วันพุธที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2556

ธีระชัย ชี้ รัฐอาจเพิ่ม VAT ใช้หนี้ 2.2 ล้านล้าน หากโครงการเหลว

   ธีระชัย ชี้ หากรัฐหาเงินมาใช้หนี้เงินกู้ 2.2 ล้านล้านไม่ได้ ทางเดียวที่จะได้เงินมาคือการเพิ่ม vat เพราะภาษีทั่วไปอยู่ในระดับต่ำ และไม่มีการดันภาษีที่ดินและมรดกเป็นช่องรายได้อื่น



 
          วันนี้ (3 เมษายน) เฟซบุ๊ก Thirachai Phuvanatnaranubala ของนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มีการเขียนข้อความถึงการกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาทของรัฐบาล ซึ่งเมื่อรวมกับดอกเบี้ยจะมียอดหนี้สูงถึง 5 ล้านล้านบาทว่า... รัฐบาลยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนสำหรับการใช้หนี้ หากโครงการที่ทำขึ้นมีความล้มเหลว โดยเรื่องนี้ตนมองว่า ประเทศไทยมีอัตราการเก็บภาษีในระดับที่ต่ำ ไม่มีการเก็บภาษีที่ดินและมรดก ดังนั้นวิธีเดียวที่จะหาเงินมาใช้หนี้ได้จริง ๆ ก็คือการเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) เท่านั้น

สำหรับข้อความของนายธีระชัยทั้งหมด มีดังนี้

 
          ผมให้ข้อมูลเพิ่ม เพื่อประชาชนจะสามารถวิเคราะห์กันได้เอง
 
           1. ระบบรางคู่อาจจะทำให้การรถไฟขาดทุนน้อยลง เพราะจะมีการขนส่งสินค้ามากขึ้น แต่ธุรกิจที่ใช้บริการจะต้นทุนต่ำลง เศรษฐกิจขยายตัวได้ จึงจะเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มได้บ้าง เก็บภาษีบุคคลธรรมดาเพิ่มได้บ้าง
 
           2. รถไฟกรุงเทพจะมีคนใช้มาก จะมีกำไรพอใช้หนี้ คงไม่ต้องพึ่งรัฐบาลมากนัก
 
           3. รถไฟความเร็วสูงขนแต่ผู้โดยสาร (ไม่เห็นประเทศใดใช้ขนสินค้า) จะเพิ่มผลผลิตของประเทศให้มากกว่าที่ low cost airline ทำอยู่แล้วได้หรือไม่ ในระดับเงินเดือนและค่าจ้างปัจจุบัน คาดว่าจะไม่มากนัก เพราะหากไม่มีระบบนี้ ค่าเสียโอกาสที่การเดินทางจะช้าไปบ้าง หรือที่ต้องใช้ low cost airline แทนนั้น ไม่รุนแรง ถามต่อว่าจะเพิ่มการท่องเที่ยวจากต่างประเทศได้หรือไม่ คาดว่าไม่มากนัก เพราะจากต่างประเทศเขาบินตรงเข้าเชียงใหม่และอู่ตะเภากันอยู่แล้ว
 
           4. เมื่อโครงการไม่มีกำไร ไม่มีเงินจากโครงการมาเพื่อใช้หนี้ 5 ล้านล้านโดยตรงการใช้หนี้ก็ต้องอาศัยรัฐบาลเก็บภาษีในรูปแบบต่างๆ เพื่อมาชำระหนี้ แต่รัฐบาลมีนโยบายเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลและภาษีบุคคลธรรมดาต่ำ เพื่อให้แข่งขันกับประเทศเพื่อนบ้าน และไม่ผลักดันเก็บภาษีทรัพย์สินและที่ดิน จึงเหลือช่องทางเดียว คือเพิ่ม VAT
 
           5. ผมได้ฟัง ดร. พิสิฐ ลี้อาธรรมในฐานะนักวิชาการตั้งคำถามน่าคิด หากรัฐบาลเพิ่ม VAT จนสูงเท่าประเทศในยุโรป บางประเทศร้อยละ 23 บางประเทศร้อยละ 28 ประชาชนจะคิดอย่างไร จะกระทบคนจนหรือคนรวยมากกว่ากัน
 
           6. รัฐบาลจึงควรให้สภาพัฒน์และกระทรวงการคลัง ประเมินตัวเลขไปข้างหน้าตลอดระยะเวลาชำระหนี้ และให้หน่วยงานทั้งสองชี้แจงต่อสาธารณะ ว่าโครงการลงทุนจะเพิ่มรายได้เท่าใด จะมีกำไรมาชำระหนี้หรือไม่ ประเทศจะมีรายได้จากภาษีต่างๆ เท่าใด และจะต้องเก็บภาษีใดเพิ่มขึ้นหรือไม่เพื่อมาชำระหนี้ ซึ่งทำตัวเลขได้ไม่ยากครับ แต่ตัวเลขต้องอาศัยหลักวิชาการ ต้องไม่ใช่การขายฝัน
 
           7. ดร.พิสิฐ เคยเป็นกรรมการยกร่างรัฐธรรมนูญ เขาเปรยว่าเสียดายที่ไม่ได้กำหนดในรัฐธรรมนูญเอาไว้ ให้รัฐบาลต้องแสดงแหล่งเงินที่จะใช้ชำระหนี้สำหรับโครงการกู้เงินต่างๆ เพราะการวางนโยบายที่เป็นยุทธศาสตร์ชาติเช่นนี้ ประชาชนควรได้ข้อมูลครบทุกด้าน ทั้งด้านประโยชน์ที่จะได้รับ และด้านค่าใช้จ่ายที่จะต้องร่วมกันควักกระเป๋า

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น