วันพุธที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2556

ฉาย บุนนาค และพวก โดนดีเอสไอสรุปสำนวนเตรียมสั่งฟ้อง คดีปั่นหุ้น

กรมสอบสวนคดีพิเศษ เร่งสรุปสำนวนคดีเพื่อสั่งฟ้อง นายฉาย บุนนาค พร้อมพวก ในคดีปั่นราคาหุ้น พร้อมรอหลักฐานเพิ่มอีกหนึ่งคดี



            พ.ต.ท.วรรณพงษ์ คชรักษ์ ผู้อำนวยการสำนักคดีการเงินการธนาคาร กรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า พนักงานสอบสวนเตรียมสรุปสำนวนสั่งฟ้อง นายฉาย บุนนาค พร้อมพวกรวม 15 คน ในคดีสร้างราคาหุ้นจำนวน 12 หลักทรัพย์ เพื่อให้นักลงทุนซื้อตาม โดยคดีดังกล่าวถูกร้องทุกข์กล่าวโทษโดย สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2555

            และเมื่อวันที่ 1 เมษายน ที่ผ่านมา สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้มีการร้องทุกข์กล่าวโทษ นายฉาย บุนนาค พร้อมพวก 13 คน เป็นคดีที่สอง ในข้อหาเดิมคือสร้างราคาหลักทรัพย์ บริษัท ไมด้าลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) ในปี 2551 กับ ปี 2553 และบริษัท แมกซ์ เมทัล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในปี 2553 ด้วย

            โดย พ.ต.ท.วรรณพงษ์ กล่าวว่า คดีดังกล่าวไม่ได้มีความยุ่งยากซับซ้อน แต่เนื่องจากเป็นคดีปั่นหุ้นหลายตัว และมีรายละเอียดเยอะ จึงทำให้ล่าช้า และอยู่ในระหว่างการประสานงานเรื่องเอกสารหลักฐาน

            ขณะที่ราคาหุ้นล่าสุดของ ไมด้า แอสเซ็ท (MIDA) วันที่ 2 เมษายน ปิดตลาดที่ 2.64 บาท ลดลง 0.08 บาท (2.94%) หุ้นไมด้า ลิสซิ่ง (ML) ปิดตลาดที่ 1.40 บาท ลดลง 0.06 บาท (4.11%) และราคาหุ้นแมกซ์ (MAX) ก็มีการปรับตัวลงเช่นกัน คาดว่ามาจากกรณีการปั่นราคาหุ้นของ นายฉาย บุนนาค ที่กำลังเป็นคดีความอยู่
            อย่างไรก็ตาม นายธีรวัฒน์ เกียรติสมภพ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมด้า ลิสซิ่ง เผยว่า กรณีมีผู้ถือหุ้นถูกกล่าวโทษนั้น มองว่าไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับบริษัท เพราะเป็นเรื่องของนักลงทุน และเรื่องก็เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว อีกทั้งในฐานะผู้บริหารก็ไม่มีส่วนในการซื้อขายอยู่แล้วด้วย

            ทั้งนี้ ในการปั่นราคาหุ้น ผู้บริหารบริษัทไม่รู้เรื่องกรณีดังกล่าว แต่ได้รับรู้จากข่าวเท่านั้น ส่วนราคาหุ้นจะขึ้นหรือจะลงก็เป็นไปตามกลไกของตลาด โดยภาพรวมคาดว่าบริษัทจะเติบโต 14% และควบคุมดูแลสินเชื่อเอ็นพีแอลไม่ให้เกิน 2%


ย้อนรอย ฉาย บุนนาค กับคดีปั่นหุ้น

            ฉาย บุนนาค คือลูกชายคนเดียวของ นายยุทธ ชินสุภัคกุล ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท โรงพิมพ์ตะวันออก จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เอส.แพ็ค แอนด์ พริ้นท์ จำกัด (มหาชน) กับ นางโฉมพิศ บุนนาค อดีตผู้บริหาร บริษัทเงินทุน เอกธนกิจ

            เขาเรียนจบปริญญาตรีด้านไฟแนนซ์ จาก London School Of Economics (LSE) ประเทศอังกฤษ และทำงานในสายการเงินกับบริษัทใหญ่หลายแห่ง ก่อนจะลาออกมาเรียนต่อปริญญาโทที่ศศินทร์ และก้าวเข้าสู่วงการตลาดหลักทรัพย์ครั้งแรก ปี 2546 โดยมีพอร์ตในตลาดหุ้นนับร้อยล้านบาท

            จนกระทั่ง ฉาย บุนนาค ที่ถูกจับตามองมาตลอดในแวดวงหลักทรัพย์ ก็ถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปรียบเทียบปรับเป็นเงิน 4,839,863 บาท เนื่องจากในขณะทำงานเป็นหัวหน้าทีมมาร์เก็ตติ้ง บริษัท ฟาร์อีสท์ จำกัด ร่วมกับทีมมาร์เก็ตติ้งอีก 2 คน ระหว่างวันที่ 1 มีนาคม - 4 เมษายน 2549 เขาได้ทำการซื้อหุ้น DTCI ผ่านบัญชีบุคคลอื่น 5 บัญชี จนทำให้ถูกครหาว่าปั่นราคาหุ้น และชื่อของเขาก็ตกเป็นข่าวอยู่เป็นระยะ


            จากนั้น เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 ก.ล.ต. ก็ได้มีการกล่าวโทษ ฉาย บุนนาค กับพวกอีก 14 คน คือ

            1. นายปฐมัน บูรณะสิน
            2. นายสุพิชยะ ฉายเหมือนวงศ์
            3. น.ส.วทันยา วงษ์โอภาสี
            4. น.ส.มัณฑิกา ขุนโหร
            5. นายอภินันทกานต์ พงศ์สถาบดี
            6. นายมีศักดิ์ มากบำรุง
            7. น.ส.ศิริญา ดำรงวิถีธรรม
            8. น.ส.ชนาธิป ตันติพูนธรรม
            9. นายทรี บุญปราศภัย
            10. นายเล็ก ทันใจ
            11. นายปัณณฑัต กล่อมสมร
            12. นายพาวิตต์ นาถะพินธุ
            13. นายเทพฤทธิ์ สีหิสราภิสิทธิ์
            14. นายไท บุญปราศภัย

            ว่าบุคคลทั้ง 15 ราย เป็นผู้สั่งการและผู้สนับสนุนในการสร้างราคาหลักทรัพย์จำนวน 12 หลักทรัพย์ ระหว่างปี 2551 - 2553 โดยมีการส่งคำสั่งซื้อขายในปริมาณมากหลายระดับราคา จับคู่ซื้อขายกันเองในกลุ่ม เพื่อกระตุ้นการซื้อขาย จนนักลงทุนเข้าใจผิดว่าหุ้นนั้นมีการซื้อขายกันจำนวนมาก และลงทุนซื้อขายหุ้นตาม ซึ่งกรณีนี้เอง ที่ดีเอสไอ จะเร่งสรุปสำนวนคดีเพื่อสั่งฟ้อง โดยมี 12 หลักทรัพย์ดังนี้

            1. หุ้น บริษัท ทรัพย์ศรีไทย คลังสินค้า จำกัด (มหาชน) (SST) ปัจจุบันชื่อ บริษัท ทรัพย์ศรีไทย จำกัด (มหาชน) ในช่วงระหว่างเดือนสิงหาคม 2551 ถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2552

            2. หุ้น บริษัท ซันไชน์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SSE) ปัจจุบันชื่อ บริษัท อควา คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม 2552 ถึงเดือนมิถุนายน 2552 และระหว่างเดือนตุลาคม 2552 ถึงเดือนพฤศจิกายน 2552

            3. ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญของ บริษัท ซันไชน์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SSE-W1) ในช่วงระหว่างเดือนพฤษภาคม 2552 ถึงเดือนมิถุนายน 2552

            4. หุ้น บริษัท ไทยบริการอุตสาหกรรมและวิศวกรรม จำกัด (มหาชน) (TIES) ในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม 2552 ถึงเดือนกรกฎาคม 2552

            5. หุ้น บริษัท สตาร์ ซานิทารีแวร์ จำกัด (มหาชน) (STAR) ในช่วงเดือนมิถุนายน 2552

            6. ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล รีเสริช คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (IRCP-W1) ในช่วงระหว่างเดือนตุลาคม 2552 ถึงเดือนพฤษจิกายน 2552

            7. หุ้น บริษัท ไซแมท เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) (SIMAT) ในช่วงเดือนมีนาคม 2553

            8. ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ บริษัท สตาร์ ซานิทารีแวร์ จำกัด (มหาชน) (STAR-W) ในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม 2553 ถึงเดือนเมษายน 2553

            9. หุ้น บริษัท อะโกร อินดัสเตรียล แมชชีนเนอรี่ จำกัด (มหาชน) (AMAC) ปัจจุบันชื่อ บริษัท แมกซ์ เมทัล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในช่วงระหว่างเดือนเมษายน 2553 ถึงเดือนพฤษภาคม 2553

            10. หุ้น บริษัท ไมด้า-เมดดาลิสท์ เอ็นเธอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (MME) ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2553

            11. ใบสำคัญแสดงสิทธิที่จะซื้อหุ้นสามัญ บริษัท ไมด้า-เมดดาลิสท์ เอ็นเธอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (MME-W1) ในช่วงเดือนพฤษภาคม 2553

            12. หุ้น บริษัท ไลท์ติ้ง แอนด์ อีควิปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) (L&E) ในช่วงเดือนกรกฎาคม 2553


อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น