วันอาทิตย์ที่ 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

คำต่อคำผู้นำฝ่ายค้าน “ไม่ไว้วางใจ“ นายก


ช่วงที่มีการจัดทำรัฐธรรมนูญตั้งแต่ปี 2540 ประเด็นมันมีนิดเดียวครับท่านประธานครับเขาบอกว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจในอดีตก่อนหน้านั้น มักจะมีการกล่าวหากันว่าคนนั้นทุจริต คนนี้ทำผิดกฎหมายแล้วก็พูดจากันในสภาลงมติ แล้วจบกันไป
เขาก็บอกว่าเพื่อความเป็นธรรมต่อทั้ง 2 ฝ่ายฝ่ายหนึ่งก็คือว่าฝ่ายเสียงข้างน้อยซึ่งพูดไปแล้วก็มักจะแพ้ในการลงมติ ก็มีโอกาสไปพิสูจน์ในกระบวนการทางอาญาต่อไปว่ามีการกระทำเช่นนั้นจริงหรือไม่
อีกด้านหนึ่งก็ให้ความเป็นธรรมกับผู้ถูกอภิปรายครับเพราะว่าการลงมติในสภาจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่แต่การกล่าวหาการแก้ข้อกล่าวหาเกิดขึ้นในสภาแล้ว เมื่อเป็นเรื่องที่มีความร้ายแรงถึงขั้นผิด รธน.ผิดกฎหมายหรือทุจริต ก็สมควรจะมีกระบวนการในการพิสูจน์ด้วย นี่คือที่มาของบทบัญญัติในมาตรานี่
เพราะฉะนั้น จริงๆ กระผมได้อภิปรายไปได้ปฏิบัติตาม รธน.หมดแล้วได้ คือกระผมได้ไปยื่นเรื่องต่อวุฒิสภาแล้ว ท่าน ปธ.สภาได้รับญัตติแล้ว พิจารณาแล้วว่าญัตติสมบูรณ์บรรจุระเบียบวาระเข้ามาแล้ว 
ท่านประธานขอความร่วมมือให้ผมส่งเอกสารถอดถอนให้ ผมก็ดำเนินการแล้วครับ ถ้าผมพูดอะไรที่เห็นว่าเข้าข่ายเป็นเรื่องการถอดถอน แล้วก็ไม่ได้อยู่ในคำถอดถอน ท่าประธานสภาซึ่งทราบประเด็นอยู่แล้วก๋สามารถที่จะให้ผมหยุดการอภิปรายได้ เพราะฉะนั้นผมได้ทำความเข้าใจ และดำเนินการอภิปรายต่อไป ส่วนที่ท่านประธานจะดำเนินการแจกเอกสารให้กับท่านสมาชิกก็สามารถทำได้เลยครับ ผมก็จะเดินหน้าในการอภิปราย ยังไม่เข้าประเด็นตรงนั้นหรอกครับ จะได้ไม่เสียเวลาที่ประชุมของสภา
ท่านประธานที่เคารพครับ ผมกราบเรียนว่าจริงๆ แล้วผมจะทำหน้าที่ในการที่จะปูพื้นฐานกับการอภิปรายที่จะเกิดขึ้นต่อไปอีก 2 วัน และก็คงต้องถือโอกาสนี้ เนื่องจากว่าในช่วงเมื่อวานนี้ (25 พ.ย.) เป็นการอภิปรายเฉพาะประเด็น เฉพาะบุคคล ได้กล่าวอะไรเล็กน้อยเกี่ยวกับการเปิดอภิปรายในครั้งนี้ ต้องกราบเรียนท่านประธานว่า ผมเองแล้วก็เพื่อนๆ หลายคนอยู่ในสภา
ท่านประธานที่เคารพครับกระผม นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรคประชาธิปัตย์ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร ที่จริงผมกำลังจะกราบเรียนท่านประธานอยู่พอดีเลยครับ พวกกระผมซึ่งอยู่ในสภามาเป็นเวลายาวนานพอสมควร พบว่าการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ ดูมันมีอุปสรรค มึความยากลำบากเหลือเกิน เป็นครั้งแรกที่สื่อมวลชน ประชาชนต้องมาถามอยู่ตลอดเวลาว่า ท่านนายกจะมาฟังคำอภิปรายไม่ไว้วางใจหรือไม่
ผมกราบเรียนท่านประธานว่า ผมไม่อยากเห็นว่ากระบวนการทางการเมืองของเรายังจะต้องตั้งคำถามในเรื่องเหล่านี้ และผมอยากเห็นกระบวนการทางการเมืองนั้น เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายได้ทำหน้าที่ของตนเองอย่างเต็มที่ เพื่อประโยชน์ในการรักษาระบอบประชาธิปไตยนี่แหละครับ และเพื่อทำให้สังคมของเราสามารถเดินไปได้อย่างสงบสุข เพราะถ้าเราปิดกั้นพื้นที่ทางการเมืองมากเท่าไหร่ความอึดอัดในสังคมก็จะมามากขึ้นเท่านั้น แล้วสุดท้ายก็จะทำให้เกิดปัญหากับระบบการเมืองของเรา
ผมทราบดีครับว่าการอภิปรายครั้งนี้ พวกเราก็ถูกปรามาส ถูกสบประมาทเยอะครับว่าบอกว่าเป็นเรื่องของการเอาข้อมูลจากสื่อมาตัดแปะอะไรทำนองนี้ แต่ผมคิดว่าท่านประธานก็ดี ท่านนายกรัฐมนตรีก็ดีถ้าท่านได้ติดตามการอภิปรายเมื่อวาน (25 พ.ย.) ผมคิดว่าเราได้พิสูจน์ให้เห็นนะครับ ว่าการทำงานของเพื่อนสมาชิกฝ่ายค้านได้ทำงานอย่างละเอียด ศึกษาทั้งเอกสาร ไม่ว่าจะเป็นเอกสารของราชการ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลจากแหล่งต่างๆ รวมไปจนถึงการลงไปในพื้นที่เพื่อเก็บข้อมูลจริงมาเสนอต่อท่านประธานต่อรัฐบาล และต่อพี่น้องประชาชน
และก็ต้องกราบเรียนครับว่าถ้าท่านนายกฯ ฟังอยู่เมื่อวานผมเชื่อว่าท่านต้องคิดแล้วแหละครับ ว่ารัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการทุจริต กรณีของรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาไทยในขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ท่านต้องคิดจริงๆ ครับว่า คำตอบของท่านรัฐมนตรีเมื่อคืน มันเป็นชี้แจงที่ตอบสาธารณะชนได้จริงหรือไม่ เมื่อพรรคฝ่ายค้าน สมาชิกหลายท่านโดยเฉพาะอย่างยิ่งขออนุญาติเอ่ยนามคือ คุณวิฑูรย์ นามบุตร ได้ชี้ให้เห็นถึงกระบวนการไม่ชอบมาพากลที่กำลังเกิดขึ้น และเป็นเรื่องที่ท้าทายความเป็นผู้นำของนายกรัฐมนตรีต่อไป
เช่นเดียวกับกรณีของท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งเมื่อวาน (25 พ.ย.) ถ้าท่านนายกรัฐมนตรีติดตามฟังอยู่จะทราบว่า ตอบมาว่าที่ไปเปลี่ยนระบบเป้าลวงในกองทัพเรือ เอาของเก่าหรือรุ่นเก่ามาแทนของใหม่ ซึ่งราคาถูกกว่ากันท่านพูดเองนะครับว่าเป็นร้อยล้าน แต่ลดราคาจริงพันบาท มันเป็นคำตอบให้พี่น้องประชาชนได้รึยัง
สิ่งเหล่านี้ที่ผมจะยืนยันกับท่านประธาน และท่านายกก็คือ กระบวนการอภิปรายไม่ไว้วางใจมันเป็นการทำหน้าที่ในการตรวจสอบ และการทำหน้าที่ในการตรวจสอบของฝ่ายค้าน มันมีประโยชน์กับสังคม 
วันที่พวกผมเป็นรัฐบาลพวกผมไม่เคยตั้งแง่ ตั้งเงื่อนไขใดๆ ทั้งสิ้นครับ ผมถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ 3 ครั้ง ไม่มีครั้งไหนเลยครับที่จะเข้ามาตั้งคำถามว่าผมจะมาฟังการอภิปราย มาตอบการอภิปรายหรือไม่ เพราะผมถือว่านั้นคือหน้าที่สำคัญ และผมกราบเรียนครับว่าไม่ใช่เฉพาะการอภิปรายไม่ไว้วางใจหรอกครับ การที่รัฐมนตรี และนายกรัฐมนตรี จะต้องรับผิดชอบต่อผู้แทนปวงชนชาวไทยคือหัวใจของการเมืองการปกครองระบอบประชาธิปไตย ในระบบรัฐสภา กระทู้ถามสดเราแทบไม่เห็นนายกตอบกระทู้เลยครับ และระยะหลังถือโอกาสกราบเรียนท่านประธานฟ้องไปยังท่านนายกนะครับว่าคนที่ท่านมอบหมายก็ไม่มาตอบ และตอนหลังยิ่งกว่านั้นอีกครับ กฎหมายของกระทรวงนึงให้รัฐมนตรีอีกกระทรวงนึงซึ่งไม่ได้รักษาการแทนมาตอบ เพราะเป็นคนเดียวที่อยู่ในสภาฯ
ผมกราบเรียนว่าผมได้ยินท่านนายกเวลาไปกล่าวปาฐกถาบรรยายในต่างประเทศเวลาพยายามชี้แจงกับพี่น้องประชาชนโดยเฉพาะในวันที่จะมีมวลชนมาชุมนุม ว่าขอให้ทุกอย่างนั้นดำเนินการในระบบของรัฐสภา ผมเห็นด้วยครับ แต่ท่านต้องทำตัวเป็นตัวอย่างก่อนในการใช้ระบบรัฐสภา และผมหวังว่าปิดสมัยประชุมนี้ไปอย่างน้อยที่สุดท่านนายกฯ ก็จะได้มีโอกาสทบทวนท่าทีแนวทางการทำงานของรัฐบาลที่มีต่อกระบวนการของรัฐสภา เมื่อเปิดสมัยประชุมต่อไปถ้าสภานี้ยังไห้ความไว้วางใจท่านอยู่
ท่านประธานที่เคารพครับผมกราบเรียนว่าที่จริงแล้ว แม้กระทั่งการเปิดอภิปรายท่านนายกฯ ยังมีข้อหาที่มีคนยังไปพูดกันอีกว่า เสมือนกับว่าพรรคฝ่ายค้านรังแกท่าน ไม่มีหรอกครับ และผมอยากจะกราบเรียนเป็นเบื้องต้นว่าที่จริงผมถือว่าท่านนายกฯ เป็นคนที่โชคดีคนหนึ่ง คือเมื่อชนะการเลือกตั้งมามีเสียงในสภามีความมั่นคง ยังมีโชคดีอีกหลายด้าน ด้าแรกครับสถานะของประเทศในวันที่มีการส่งมอบงานกัน เมื่อสองหาคม 2554 หลายประเทศยอมรับเลยครับว่าเราอยู่ในสถานะที่ดี
1.เราผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจมาได้ อัตรการขยายตัวทางเศรษฐกิจเริ่มขยายตัวเร็วขึ้น เราไม่มีปัญหาการว่างงานเหมือนกับหลายภูมิภาคในโลก สำคัญที่สุดก็คือเราผ่านพ้นมาได้โดยมีสถานะทางการเงิน และการคลังที่ถือว่าแข็งแกร่งพอสมควร ทำให้รัฐบาล มีช่องทาง มีเครื่องมือ ไม่ว่าจะเป็นการเงินการคลังในการรับมือกับความผันผวนทางเศรษฐกิจ หรือการที่จะตั้งหน้าตั้งตาในการพัฒนาประเทศ
2.ที่ท่านนายกโชคดีกว่าผมคือท่านมีฝ่ายค้านที่ยึดถือผลประโยชน์ของประเทศชาติ และไม่ขัดขวางการทำงานของท่าน
ท่านนายกไปให้สัมภาษณ์นะครับว่าท่านเดินทางไปได้ทั่วทุกภูมิภาค ก็ถูกต้องครับ ในพื้นที่ซึ่งท่านไม่มีผู้แทนราฎร มีผู้สนับสนุนไม่มาก มีผู้ที่สนับสนุนฝ่ายค้านมาก ฝ่ายค้านนี่แหละครับเป็นคนยืนยันกับพี่น้องประชาชนมาโดยตลอดว่า จะชอบใครไม่ชอบใคร แต่ทุกคนต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนเองได้ และพวกผมก็ยืนยันครับว่า พวกเราทำงานกันตามวิถีทางตามประชาธิปไตย เคารพกฏหมาย และพร้อมที่จะให้ความร่วมมือในการทำงานในสิ่งที่เป็นวิกฤตของประเทศ ผมไม่เคยเกี่ยงเลยครับวันที่สภาหอการค้า เครือข่ายต่อต้านคอรัปชั่น บอกอยากเห็นผู้นำฝ่ายค้าน อยากเห็นนายกรัฐมนตรีไปร่วมกันเดินรณรงค์ต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นผมก็ไป ท่านก็คงจำได้ วันที่รัฐบาลบอกว่าอยากเชิญฝ่ายค้าน ส.ส.ในพื้นที่ไปให้ข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องปัญหาความไม่สงบในชายแดนภาคใต้พวกผมก็ไป
แต่วันนี้สิ่งที่ผมจำเป็นต้องมาอภิปรายไม้ไว้วางใจท่านก็เพราะการบริหารราชการแผ่นดินของท่านกำลังสร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงให้กับประเทศชาติ และอนาคตของลูกหลานคนไทย และผมกราบเรียนครับว่าที่เจาะจงอภิปรายนายกรัฐมนตรีหลายเรื่อง ก็เพราะมันเป็นความรับผิดชอบของท่านจริงๆ ไม่สามารถปฏิเสธได้ และวันนี้หลังจากที่เราไม่ได้มีโอกาสฟังผู้นำประเทศนายกรัฐมนตรีอธิบายกับประชาชนถึงแนวคิดที่แท้จริงของนายกฯ ในเรื่องทีเป็นเรื่องใหญ่ๆ จะเป็นเรื่องข้าว จะเป็นเรื่องการปราบปรามการทุจริต หรือเรื่องอื่นๆ วันนี้แหละครับฝ่ายค้านให้โอกาสท่าน ในการที่จะมาชี้แจงถึงแนวคิดของท่านต่อเรื่องเหล่านี้ เราอภิปรายท่านเพราะท่านคือประธานในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เราอภิปรายท่านในเรื่องที่ท่านมีความรับผิดชอบตามกฎหมาย นี่คือสิ่งที่ผมยืนยันครับว่า เราไม่ได้มีการเฉพาะเจาะจงครับว่า ต้องอภิปรายนายกรัฐมนตรี แต่เป็นไปตามสภาพของเนื้องานการบริหารราชการแผ่นดินที่สร้างความเสียหายที่เกิดขึ้น
ท่านประธานที่เคารพครับผมขอเริ่มต้นว่าในขณะที่กระผมบอกว่าท่านรับมอบงานในเดือนสิงหาคม 2554 ประเทศอยู่ในสถานะที่ดีพอสมควร ถามว่าวันนี้สถานะของประเทศเป็นอย่างไรภาวะความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนเป็นอย่างไร เมื่อตอนครบรอบ 1 ปี และในญัตติไม่ไว้วางใจที่กระผมเขียนมา เราก็เขียนชัดครับ เราเจอปัญหาน้ำท่วม หนี้ท่วม แพงทั้งแผ่นดิน ถ้าเป็นพืชผลการเกษตรก็ถูกทั้งแผ่นดินหรือมีปัญหาทั้งแผ่นดิน ไฟใต้ท่วม ความขัดแย้งในสังคมยังดำรงอยู่ และที่สำคัญที่สุดครับปัญหาการทุจริตคอรัปชั่นเลวร้ายลง แต่ผมจะพูดอย่างนี้และไม่มีอะไรอ้างอิง ก็คงจะดูกระไรอยู่ ผมเองก็ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะไปหาคนทีเป็นกลางที่จะประเมินได้อย่างไร ผมก็ลองไปหยิบดูการสำรวจ และจัดทำดัชนีความเจริญ หรือภาษาอังกฤษใช้คำว่า PROSPERITY INDEX ของหน่วยงานที่อยู่ที่อังกฤษ ซึ่งได้มีการประเมินสำหรับปี 2555 ใน 142 ประเทศเรียบร้อยครับ ปรากฎว่าประเทศไทย อยู่อันดับที่ 56 และในการประเมินของเค้าเค้าจะแยกออกเป็นด้านๆ ครับ ด้านที่ประเทศไทยยังไปได้ดีคือภาพรวมของเศรษฐกิจ และการที่คนไทยนั้นมีทุนทางสังคม ความหมายก็คือเรามีความเข้มแข็ง และคนไทยมีน้ำใจไมตรีเกื้อกูลกันซึ่งเป็นทุนทางสังคม ซึ่งจะเอื้อต่อการทำให้ประเทศมีความเจริญก้าวหน้า ในหมวดเหล่านี้เราจะอยู่อันดับที่ 18 อันดับ 19 ครับ ซึ่งถือว่าสูงทีเดียว แต่พอมาดูประเด็นที่เกี่ยวข้องกับธรรมาภิบาล เราจะอยู่ที่อันดับ 64 พอเรามาดูปัญหาระยะยาว ซึ่งต้องได้รับการแก้ไขเช่นการศึกษา สาธารณะสุขเราจะอยู่อันดับที่ 70 อันดับที่ 71 แต่ว่าสิ่งที่น่าตกในก็คือว่าในส่วนของความมั่นคง ความปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สิน เราอยู่อันดับที่ 99 และน่าตกใจที่สุดครับ พอเค้าประเมินเรื่องของสิทธิเสรีภาพของประชาชน เราอยู่ที่อันดับ 129 จาก 142 ประเทศ เราไม่จำเป็นต้องเชื่อเค้าหรอกครับ แต่มันก็เป็นตัวสะท้อนตัวนึง บังเอิญเป็นดัชนีที่จัดทำกันล่าสุด ที่ผมหยิบมาได้ก็หยิบมา
แล้วถ้าท่านประธานถามว่า อันดับที่ 56 มันมีความเป็นมา เทียบไปแล้วเป็นอย่างไร ผมก็เทียบให้ดูว่า เค้าจัดทำมาตั้งแต่ปี 2552 ครับ ในปี 2552 นะครับ เราอยู่อันดับที่ 54 พอปี 2553 เราขยับขึ้นมาที่ 52 ปี 2554 เราก็ขยับขึ้นมาที่อันดับ 45 ครับ แต่ปีนี้เราตกรวดเดียว 11 อันดับ ไปอยู่อันดับที่ 56 เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าต้องการตั้งประเด็นไว้เท่านั้นเองว่าที่พวกผมพูดว่าการบริหารราชการแผ่นดินบ้านเมืองขณะนี้ สถานะของประเทศขณะนี้ยังมีความน่าเป็นห่วง พวกกระผมไม่ได้คิดเองฝ่ายเดียว แต่คนที่เขาประเมินจากข้างนอกเขามองเห็นหลายสิ่งหลายอย่างซึ่งกำลังเกิดขึ้นในประเทศไทย
ทีนี้ประเด็นที่กระผมอยากจะกราบเรียนว่า เวลาที่เราจะเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจท่านนายก เราเจอคำถามแปลกอยู่เหมือนกันครับ คือเค้าถามว่าท่านนายกทำผิดอะไร แต่มีแปลกกว่านั้นก็คือว่า ท่านนายกทำอะไร ความหมายก็คือว่าบทบาทของนายกรัฐมนตรีที่เราเห็นในขณะนี้ กระผมทราบดีครับว่าฝ่ายยุทธศาสตร์ทางการเมืองคนรอบๆ ตัวท่าน กันบทบาทของท่านออกจากการที่มาแสดงความคิดเห็น หรือถ้าเป็นเรื่องการเมืองพูดง่ายๆ ก็คือการปะทะตอบโต้ แต่จริงๆ มันก็คือการชี้แจงเกี่ยวกับปัญหาสำคัญๆ ของประเทศ เป็นยุทธศาสตร์ซึ่งผมทราบครับว่า เขาก็ใช้กันหลายที่ เพื่อให้นายกรัฐมนตรีลอยตัว จริงๆ พยานที่ดีที่สุดก็ท่านประธานสภาผู้แทนราษฎรแหละครับ เพราะว่าไปมีคลิปเสียงท่านที่ออกมาบรรยายว่านั่นหน่ะเป็นยุทธศาสตร์ที่ถูกต้องแล้ว ผมไม่ติดใจหรอกครับว่าทำแล้วท่านได้เปรียบ หรือเสียเปรียบทางการเมือง เพราะถือว่าถ้าเป็นเรื่องที่ไม่ผิดกฎหมายท่านก็มีสิทธิ์ที่จะทำ ท่านได้เปรียบทางการเมืองก็เป็นประโยชน์กับท่าน เป็นการแข่งขันกระผมไม่ติดใจ
แต่ถ้าการลอยตัวแล้วบทบาทของนายกรัฐมนตรีเป็นเช่นนี้ แล้วมันเกิดความเสียหายต่อการบริหารราชการแผ่นดิน มันก็จำเป็นที่จะต้องอภิปรายว่า ท่านนายกฯ จะไม่ทำอะไรไม่ได้ เพราะบ้านเมืองกำลังเสียหายจากการบริหารงานของท่าน เพราะท่านเป็นหัวหน้ารัฐบาล ตรงนี้แหละครับ มีตัวอย่างที่สืบเนื่องมาจากการอภิปรายเมื่อวานง่ายๆ ครับ กรณีของท่านรัฐมนตรีกว่าการกระทรวงกลาโหมอีกแล้วแหละครับ ที่ท่านได้กระทำการที่ผิดต่อเจตนารมย์ของกฎหมาย และข้อบังคับเกี่ยวกับการโยกย้ายแต่งตั้ง ไม่เป็นไปตามขั้นตอน สรุปสั้นๆ ง่ายๆ นะครับ
ประการแรก ตามกฎหมายขั้นตอนการแต่งตั้ง กรรมการของแต่ละหน่วยเป็นผู้เสนอขึ้นมา กรรมการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเป็นประธานร่วมกับผู้นำเหล่าทัพ แล้วก็มีท่านปลัดฯ เป็นเลขา กฎหมายและระเบียบเขียนชัดครับว่า มีหน้าที่ในการกลั่นกรอง คำว่ากลั่นกรองก็หมายความว่าท่านจะเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ กระผมไม่ได้บอกว่าท่านต้องเห็นชอบนะครับ คือท่านพยายามจะชี้แจงเหมือนในคลิปนะครับบอกว่า ถ้าต้องเห็นชอบไม่ต้องมีรัฐมนตรีก็ได้ ไม่ต้องมีกรรมการก็ได้ ความหมายมันไม่ใช่อย่างนั้นหรอกครับ ความหมายคือเขาไม่ต้องการให้การเมืองไปล้วงลูก ในองค์กรที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องดำรงความเป็นกลางทางการเมือง เพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของชาติเพราะฉะนั้นการพิจารณากลั่นกรอง ถ้าท่านไม่เห้นด้วย ท่านก็อาจจะทักท้วงตั้งข้อสังเกตุ แล้วก็อาจย้อนกลับไป ให้คนที่เค้ามีอำนาจในการเสนอชื่อ คือจากข้างล่างขึ้นมาเสนอครับ ไม่ใช่บอกว่าถ้าคุณเสนอคนนี้ คุณก็จะเปลี่ยนเป็นคนนี้ นั้นไม่ใช่กลั่นกรอง ชัดเจนครับ
ประการที่ 2 นะครับ ระเบียบก็เขียนชัดนะครับในข้อ 13 ว่าตำแหน่งปลัดกระทรวงกลาโหมนั้นจะได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าแต่งตั้งจากราชการทหารชั้นยศ พลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก ที่ครองอัตราจอมพล จอมพลเรือ จอมพลอากาศ หรือพลเอก พลเรือเอก พลอากาศเอก มีการเรียงลำดับต่างๆ ชัดเจน แต่ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามนี้ สิ่งที่สำคัญครับท่านประธานครับ เมื่อเห็นได้ชัดว่าคนที่เค้าพยายามยึดตามกฎระเบียบนี้เขาทักท้วง ก็ยังมีกระบวนการ คือจะโยกย้ายเค้าก็ยังทำไม่ได้ ก็สั่งให้ไปปฏิบัติราชการ เพื่อเปลี่ยนองค์ประกอบของคณะกรรมการ ทำให้การประชุมครั้งถัดมาปลัดกระทรวงกลาโหม ซึ่งเป็นตำแหน่งที๋โปรดเกล้าไม่ได้เข้าประชุม แต่เอาบุคคลซึ่งท่านสั่งให้ฏิบัติหน้าที่แทนปลัดกระทรวง มาเป็นกรรมการแทน ถ้าเราอนุญาติอย่างนี้ ต่อไปนี้กรรมการทุกกรรมการแหละครับ ถ้ากรรมการคนไหนดำรงตำแหน่ง มีตำแหน่ง ทางราชการอยู่ไม่ถูกใจผู้มีอำนาจ ก็สั่งให้ไปทำอย่างอื่นหมดครับ แล้วก็เอาคนที่เห็นด้วยกับตัวเองบอกว่าขอให้ปฏิบัติหน้าที่นั้น เฉพาะวันนั้นมาประชุมก็ได้ เราจะวางระบบอย่างนี้เหรอครับ ทีนี้ของท่านรัฐมนตรีท่านก็ชี้แจงไปแล้วนะครับ แต่ว่าทุกอย่างก็ยื่นถอดถอนไป แล้วก็คลิปเสียงผมเข้าใจว่าท่านไม่ปฏิเสธนะครับว่าเป็นคลิปจริง แล้วก็ที่ยื่นให้ท่านประธานก็คือครบทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะที่มาเปิดในนี้ ก็ไปพิสูจน์กัน
แต่ผมติดใจที่ท่านนายกตอบเมื่อวาน เพราะว่าท่านตอบก็ตามสูตรแหละครับว่าเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับท่าน ท่านปลัดกระทรวงไปร้องเรียนต่อท่านนะครับ มีหลักฐานเรียบร้อยว่าไปขอพบท่านเมื่อไหร่ อย่างไรมีการรับเอกสารเรียบร้อย ท่านนายกชี้แจงเพียงแค่ว่าเมื่อรับเรื่องแล้วก็ส่งกลับไปแจ้งให้ทางกระทรวงกลาโหมทราบ เพื่อไปทบทวนพิจารณาสุดแล้วแต่ แต่ท่านไม่ได้บอกต่อนะครับว่าการแต่งตั้งนายทหารชั้นนายพล ขั้นตอนสุดท้ายไปที่ไหนครับ เมื่อทางกระทรวงพิจารณาเสร็จ ส่งให้ใครครับ ส่งให้นายกรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการในการทูลเกล้าครับ ผมยืนยันว่าหน้าที่ตรงนั้นไม่ไช่หน้าที่ของการเป็นไปรษณีย์ แล้วโดยเฉพาะอย่างยิ่งนายกรัฐมนตรี เคยได้รับเรื่องร้องเรียน และสามารถตรวจสอบได้ง่ายๆ ว่าเป็นไปตามข้อบังคับหรือไม่อย่างไร ความรับผิดชอบที่จะต้องดูแลแก้ไขเรื่องนี้มันมีมากกว่านี้
ผมไม่มาเถียงหรอกครับว่าระหว่าง 2 ท่านที่มีการเสนอชื่อหรือไม่เสนอชื่อใครมีความเหมาะสมกว่ากัน ผมไม่ก้าวล่วงครับ เพราะกระผมไม่ทราบจริงๆ แต่อย่างน้อยที่สุดสิ่งที่พวกเราบอกก็คือว่า ต้องดูแลว่าการปฏิบัติตามกฎหมายตามระเบียบ มันเกิดขึ้น และรัฐมนตรีทุกท่านก็เป็นผู้ใต้บังคับบัญชาของท่านนายกฯ นี่ไงครับตัวอย่างที่ผมบอกว่าถ้ายุทธศาสตร์บอกว่าจะต้องลอยตัวจะได้ไม่เป็นปัญหา ถ้าในทางการเมืองมันจะส่งผลอย่างไรผมไม่ติดใจ แต่ในทางการบริหารราชการแผ่นดิน การไม่ดำเนินการเข้ามาแก้ไขตรงนี้มันส่งผลต่อควาเป็นธรรม มันส่งผลต่อการเคารพกฎหมาย เคารพกฎระเบียบ และมันก็จะกลายเป็นเยี่ยงอย่าง บรรทัดฐาน ให้เกิดปัญหากับกฎระเบียบอื่นๆ ต่อไป เพราะฉะนั้นตรงนี้เป็นตัวอย่างที่กระผมกราบเรียนว่า ท่านจะลอยตัวอยู่เหนือปัญหาไม่ได้
เช่นเดียวกันครับกับอีกปัญหาหนึ่งซึ่งจะมีท่านสมาชิกท่านอื่นพูดในรายละเอียดครับ ก็คือปัญหาของชายแดนภาคใต้ ซึ่งท่านนายกเองโดยโครงสร้างจะต้องดูแลงานที่เป็นงงานสำคัญ 2 ขา คือความมั่นคง กับการพัฒนา กฎหมายความมั่นคงก็ดี กฎหมาย ศอ.บต. ก็ดี จึงเป็นกฎหมายที่ให้นายกรัฐมนตรี เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุด
ตรงนี้กระผมให้ความเป็นธรรมกับท่านนายกฯ ท่านนายกคงจำได้ว่าวันที่ผมไปทำเนียบฯ ผมก็บอกว่าผมเข้าใจดีครับ นายกรัฐมนตรีจะมาทำทุกเรื่อง รู้ทุกเรื่องเป็นไปไม่ได้ แต่ผมกราบเรียนในขณะนั้นว่า สิ่งเดียวที่พวกเราชาวประชาธิปัตย์อยากเห็นก็คือ ถ้าท่านายกเห็นว่าจำเป็นจะต้องมอบหมายบุคคลใด ก็ขอให้มีความชัดเจน เราแนะว่า เอาคนนึงระดับรองนายกฯ ถ้าท่านนายกฯ จะไม่ดูแลเอง รองนายกฯ 1 คนดูแล แล้วก็มีรัฐมนตรีอีกซัก 1 ท่านนะครับ ที่ไปอยู่ในพื้นที่ เพราะพื้นที่มีเงื่อนไขเยอะ เกิดปัญหาบ่อย ต้องมีรัฐมนตรีซักคนเกาะติดพื้นที่ คอยรายงาน คอยแก้ปัญหาในฝ่ายนโยบาย แต่ 1 ปีกว่าๆ ที่ผ่านมาครับ มีการมอบหมายรองนายก 3 คน 4 คน จนสับสนกันไปหมดว่าใครเป็นผู้ดูแล
วันนั้นไปที่ทำเนียบที่สุดท่านให้คำตอบผมว่าคนที่เป็นหลักจริงๆ ถือว่ามีสถานะเหนือกว่ารองนายกฯ คนอื่นก็คือ รองฯ ยุทธศักดิ์ครับ ผมก็ดีใจ หลังจากนั้นผมก็คุยกับ รองฯ ยุทธศักดิ์ หลายครั้งนะครับ เช่นเกิดปัญหาว่า ชาวบ้านค้าขายวันศุกร์ไม่ได้ ผมก็ยังไปคุยกับท่าน เจอท่านทีไรก็คุยเพื่อช่วยกัน สุดท้ายท่านนายกปรับเค้าออก แล้วปรับออกเสร็จก็เกิดปรากฏการณ์ที่แปลกมากก็คือว่าไม่มีรองนายกฯ คนไหน อยากจะรับงานนี้ไปทำ เกี่ยงกันก็เป็นเรื่องที่ดีนะครับที่ท่านนายกฯ บอกว่าจะมาดูแลเอง แต่ว่าเดี๋ยวเพื่อนสมาชิกที่จะอภิปรายจะชี้ให้เห็นนะครับว่า ท่านมาดูแลเองแล้วมันน่าจะเกิดปัญหาอะไร อย่างไรหรือไม่ นี่ก็เป็นอีกตัวอย่างครับ ของการที่นโยบายที่มีปัญหามันมาจากการที่ผู้นำรัฐบาลขาดความชัดเจน

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น