รมช.สธ. เผย เด็กไทย เป็นโรคสมาธิสั้นเพิ่มขึ้น มีเด็กป่วยล่าสุด 3.1 แสนคนแล้ว ชี้ รักษายากมาก
นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า อิทธิพลการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ได้ส่งผลต่อปัญหาทั้งด้านสุขภาพกายและสุขภาพจิตของประชาชนมากขึ้น ในกลุ่มเด็กปฐมวัย พบว่า มีเด็กที่มีพัฒนาการไม่สมวัยมากถึงร้อยละ 30 ระดับความฉลาดทางสติปัญญา หรือ ไอคิว เฉลี่ย 98.59 จุด ซึ่งยังต่ำกว่าเกณฑ์ปกติที่อยู่ที่ 100 จุด ซึ่งในจำนวนนี้ร้อยละ 49 มีไอคิวต่ำกว่าปกติ และมีเด็กที่มีปัญหาสติปัญญาบกพร่อง คือ มีระดับไอคิวต่ำกว่า 70 จุด มากถึงร้อยละ 6.5 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์มาตรฐานสากล 3 เท่าตัว ซึ่งกำหนดให้มีกลุ่มนี้ มีไม่เกินร้อยละ 2
นายแพทย์ชลน่าน กล่าวต่อว่า โรคในเด็กที่น่าเป็นห่วงอีกโรคหนึ่ง และจะมีผลต่ออนาคตของเด็กไทย คือ โรคสมาธิสั้น หรือ โรคเอดีเอชดี หรือ ที่เรียกกันติดปากว่า โรคไฮเปอร์แอคทีฟ พ่อแม่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยให้ความสนใจเท่าที่ควร เนื่องจากไม่ได้คิดว่าเด็กป่วย โดยโรคนี้มักพบในเด็กชาย เด็กจะไม่สามารถจดจ่อกับอะไรได้นาน ๆ หากไม่รักษาตั้งแต่เด็ก จะมีผลต่อการเรียน ต่ออนาคตของเด็กเองและอาจถูกทำร้ายจากผู้ปกครอง หรือญาติได้ จากความไม่เข้าใจ ผลสำรวจในกลุ่มเด็กไทยที่กำลังเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 -6 ที่มีจำนวนประมาณ 5 ล้านคน พบว่า เป็นโรคสมาธิสั้น ร้อยละ 6.5 คาดว่า จะมีเด็กไทยป่วยเป็นโรคนี้ ประมาณ 310,000 ราย ขณะที่ ทั่วโลกพบเด็กเป็นโรคนี้ ร้อยละ 5
ทั้งนี้ จากรายงานของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ พบว่า เด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้หากไม่รักษา จะทำให้ 2 ใน 3 หรือ ประมาณร้อยละ 70 ของเด็กที่ป่วยมีอาการจนถึงผู้ใหญ่ จะมีผลเสียต่อทั้งต่อเด็กและสังคม โดยพบว่า 1 ใน 4 ทำผิดกฎจราจร มีบุคลิกก้าวร้าว อีก 1 ใน 10 มีปัญหาใช้สารเสพติด หรือ มีปัญหาสุขภาพจิตถึงขึ้นพยายามฆ่าตัวตาย ซึ่มีร้อยละ 5 ที่ฆ่าตัวตายได้สำเร็จ
ขณะที่ นายแพทย์วชิระ เพ็งจันทร์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า โรคสมาธิสั้น เป็นกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นตั้งแต่วัยเด็ก ก่อนอายุ 7 ขวบ ยังไม่ทราบสาเหตุการเกิดโรคที่แท้จริง แต่มักจะพบในผู้หญิงที่สูบบุหรี่ หรือ ดื่มเหล้าระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อพฤติกรรม อารมณ์ การเรียน และการเข้าสังคมกับผู้อื่นของเด็ก ไม่ใช่เด็กปัญญาอ่อน เด็กกลุ่มนี้จะมีระดับไอคิวปกติ อาการที่เป็นสัญญานโรค จะปรากฏเห็นชัดเจน 3 อาการ ได้แก่ ขาดสมาธิ ขาดความสามารถในการควบคุมตัวเอง และซุกซน
นายแพทย์วชิระ กล่าวอีกว่า เด็กสมาธิสั้นส่วนใหญ่จะมีปัญหาการเรียน หรือ เรียนได้แต่ไม่เต็มศักยภาพ ดังนั้นจึงแนะนำให้ผู้ปกครองและครูที่ดูแลเด็กที่เป็นโรคสมาธิสั้น เรียนรู้เทคนิคที่ถูกต้อง เพื่อช่วยในการจัดการกับพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมบางอย่างของเด็ก การตี หรือ การลงโทษทางร่างกายเป็นวิธีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ไม่ได้ผล และจะมีส่วนทำให้เด็กมีอารมณ์โกรธ หรือ แสดงพฤติกรรมต่อต้านและก้าวร้าวมากขึ้น วิธีการที่ได้ผลดีกว่า คือ การให้คำชม หรือ รางวัลเมื่อเด็กแสดงพฤติกรรมที่ถูกต้องและเหมาะสม หรือ ควบคุมพฤติกรรมตนเองได้ โดยแนะนำให้งดกิจกรรมที่เด็กชอบ หรือ ตัดสิทธิอื่น ๆ
ทั้งนี้ วิธีสังเกตว่าเด็กเป็นโรคสมาธิสั้นหรือไม่ สามารถดูได้จากการมีสมาธิ เด็กจะไม่สามารถทำงานที่ครู หรือ พ่อแม่สั่งจนสำเร็จ ไม่มีสมาธิในขณะทำงาน หรือ เล่น มักไม่ค่อยฟังเวลาพูดด้วย วอกแวกง่าย ขี้ลืมบ่อย ๆ ทำงานผิดพลาดบ่อย ทำของใช้หรือของส่วนตัวหายบ่อย ในเรื่องของอาการซุกซน สามารถดูได้โดย เด็กจะมีพฤติกรรมยุกยิก อยู่ไม่สุข นั่งไม่ติดที่ หรือชอบนั่งโยกเก้าอี้ ชอบวิ่ง หรือปีนป่ายสิ่งต่าง ๆ พูดมาก พูดไม่หยุด ตื่นตัวตลอดเวลา หรือดูตื่นเต้นง่าย ชอบโพล่งคำตอบเวลาครู หรือพ่อแม่ถามโดยที่ยังฟังคำถามไม่จบ
หากพบว่าลูกหลานมีอาการเหล่านี้ ขอให้ปรึกษาจิตแพทย์ สามารถโทรสายด่วนสุขภาพจิต 1323 หรือ 1667 หรือสอบถามที่สายด่วนวัยรุ่นของสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ 02-248-9999
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น