วันพฤหัสบดีที่ 13 ธันวาคม พ.ศ. 2555

"ครูแคง-วิลาสิณี กล้าทะเล" ชาวมอแกนคนแรกเรียนจบปริญญาตรี แห่งหมู่เกาะสุรินทร์


ผืนน้ำสีฟ้าเข้มตัดกับความเขียวครึ้มของต้นไม้บนเกาะรับกับพื้นทรายสีนวลละเอียดสะท้อนรับแสงอาทิตย์ที่อาบฉายธรรมชาติตรงหน้าคือความงามของหมู่เกาะสุรินทร์อ.คุระบุรีจ.พังงา สถานที่พักผ่อนซึ่งนักท่องเที่ยวชาวไทยอยากไปและชาวต่างชาติปรารถนาขอสัมผัสกับธรรมชาติที่ห่างไกลจากชายฝั่งถึง60ไมล์ทะเลเพื่อตั้งแคมป์กางเต็นท์นอนสัมผัสบรรยากาศอันงดงามของหมู่เกาะ ช่องเขาขาด นอนกินลมชมตะวันทั้งบนบก ในน้ำ และใต้น้ำ ชมแสงดาว แสงจันทร์ยามค่ำคืนแบบไร้แสงใด ๆ รบกวนอย่างสบายอุรา
ภายในหมู่เกาะแห่งนี้เองมีชนเผ่าเล็กๆ กลุ่มหนึ่งอาศัยอยู่ตามชายหาดริมอ่าวรอบ ๆ เกาะ และโยกย้ายไปตามฤดูกาล จนกระทั่งปัจจุบันได้เลือกมาปักหลักอยู่ที่อ่าวบอนใหญ่ หลังจากเกิดสึนามิครั้งใหญ่เมื่อปี 2547 ทำให้ที่พักอาศัยบนอ่าวบอนเล็กถูกคลื่นยักษ์กวาดลงทะเลหมด
ชนเผ่าทางทะเลกลุ่มนี้ คือ "ชาวมอแกน" ชนกลุ่มน้อยประมาณ 200 คน มีวิถีชีวิตอยู่กับทะเลตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษมาอย่างยาวนาน พวกเขาเร่ร่อนอยู่ในทะเลอันดามันอาศัยเรือก่าบาง เป็นที่หลับที่นอน พเนจรไปตามมหาสมุทรและใช้หมู่เกาะต่าง ๆ เป็นที่กำบังพายุในช่วงมรสุม
ถึงแม้ว่าพวกเขาจะเกิดในผืนแผ่นดินไทย แต่ก็มิได้หมายความว่าจะได้สัญชาติไทย จนถึงขณะนี้ชาวมอแกนก็ยังไม่มีบัตรประชาชน นอกเสียจากจะไปแต่งงานกับคนไทย ลูกถึงจะได้รับสิทธิ์แบบคนไทยและมีบัตรประชาชน
ชาวมอแกนแห่งหมู่เกาะสุรินทร์ มีวัฒนธรรม ความเชื่อ และภาษาเป็นของตัวเอง แม้พวกเขาไม่มีบัตรประชาชนเหมือนกับคนไทยทั่ว ๆ ไป แต่ได้รับพระราชทานนามสกุลจากสมเด็จย่า ว่า "กล้าทะเล" ดังนั้นชาวมอแกนทุกคนจึงถือนามสกุลเดียวกันหมด
สำหรับนักท่องเที่ยวแล้ว หมู่เกาะสุรินทร์อาจจะเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจชั้นเลิศ แต่สำหรับผู้ที่ต้องดำรงชีวิตอยู่บนเกาะนั้น ตลอดปีและตลอดไป คงไม่ใช่เรื่องง่ายนักในกรณีที่พื้นดินผืนน้ำถูกควบคุมดูแลโดยกรมอุทยานฯ ที่ต้องทำหน้าที่อนุรักษ์พันธุ์พืช พันธุ์สัตว์ อันเป็นอาหารประทังชีวิตของชาวมอแกน วิถีชีวิตพวกเขาจึงค่อนข้างถูกจำกัดลง และเมื่อชุมชนมอแกนถูกเปิดเผยต่อโลกภายนอก เนื่องด้วยเป็นชนกลุ่มเดียวที่เอาตัวรอดจากคลื่นยักษ์ในเหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งรุนแรงได้
นับจากนั้นก็มีอาสาสมัครจากบนฝั่งทั้งคนไทยและต่างชาติที่รอดชีวิตจากความช่วยเหลือของชาวมอแกนมาร่วมกันสร้างบ้านหลังใหม่ให้ชาวบ้านและสร้างศูนย์การเรียนรู้ชุมชนชาวมอแกนเป็นการถาวรมีการสร้างห้องน้ำนำเมล็ดพันธุ์พืชผักสวนครัวให้ชาวบ้านปลูก

ล่าสุดมูลนิธิสายเด็ก1387ที่ ม.ร.ว.สุพินดา จักรพันธุ์ เป็นประธานมูลนิธิ ได้รับบริจาคแผงโซลาร์เซลล์จากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) นำไปมอบต่อให้กับชุมชนชาวมอแกน โดยกองทัพเรือช่วยลำเลียงส่งมอบจนถึงเกาะ
ม.ร.ว.สุพินดาเดินทางไปถึงเกาะด้วยตัวเองหลายครั้ง รับรู้รับทราบถึงปัญหาที่ชาวบ้านกำลังประสบ ทั้งด้านสุขภาพกายและใจ แต่ปัญหาใหญ่ที่ ม.ร.ว.สุพินดาเป็นห่วงและเข้าไปร่วมแก้ไขร่วมผลักดันเร่งด่วน คือ การศึกษา แม้จะรู้ทางแก้ ส่วนเงื่อนไขก็มากทีเดียวสำหรับงานการศึกษาของผู้ไร้สัญชาติเยี่ยงชาวมอแกน

แต่ ม.ร.ว.สุพินดาพร้อมกับอาสาสมัครมูลนิธิผู้ใจดี "นุ้ย-อาภรณ์ ภูมิถาวร" 2 หญิงแกร่งกลับไม่ย่อท้อ ยังคงเดินหน้าประสานความร่วมมือกับทุกฝ่าย ขออนุญาตกรมอุทยานฯ สร้างอาคารอเนกประสงค์แห่งใหม่ขึ้นแทนโรงอาหารหลังเก่าที่ผุพัง เพราะถูกปลวกและมอดกัดกินเกือบทั้งหลัง ความช่วยเหลือหลั่งไหลไปที่เกาะแม้จะไม่ต่อเนื่อง แต่ชาวบ้านทุกคนต่างขอบคุณในความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่จากภายนอก ยังความดีใจ ปลื้มใจแก่ชาวบ้าน แต่ก็เทียบไม่ได้กับความภาคภูมิใจที่พวกเขามีครูเป็นชาวมอแกนคนแรก ครูที่สามารถพูดภาษาเดียวกันได้ ครูที่สามารถอยู่กับพวกเขาได้ตลอดรอดฝั่ง ครูที่ไม่ต้องหอบเสื้อผ้าขึ้นบกในยามมรสุมมาเยือน ครูที่อนุญาตให้พวกเขากระโดดน้ำทะเลเล่นได้หลังเวลาพักกลางวัน และครูเข้าใจวิถีชีวิตชาวมอแกนมากที่สุด

ครูคนนั้นคือ "วิลาสิณี กล้าทะเล" (ครูแคง) ครูสาวชาวมอแกน วัย 23 ปี ที่เพิ่งเรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี ยอมสละวุฒิปริญญาตรีมารับเงินเดือนวุฒิ ปวส. เป็นพนักงานราชการในศูนย์การเรียนรู้ชุมชนของชาวมอแกน ซึ่งใช้หลักสูตรการศึกษานอกโรงเรียน (กศน.) ที่เปิดรับสมัครครูจบวุฒิการศึกษา ปวส. ครูแคงปล่อยโอกาสทำงานกับบริษัททัวร์ที่มีชื่อบนฝั่ง มารับเงินเดือนที่ต่ำกว่า และอยู่ห่างไกลความเจริญที่เธอได้สัมผัสแล้วว่าศิวิไลซ์กว่าถิ่นที่อยู่เดิมมากแค่ไหน
เมื่อเธอได้รับปากกับ ม.ร.ว.สุพินดา และนุ้ย อาสาสมัครสาวว่าจะกลับมาเป็นครูพัฒนาชุมชนของตัวเอง ประกอบกับความคิดที่เธอตัดสินใจกลับมาที่เกาะเพื่อพัฒนาชุมชนของเธอให้เข้มแข็ง ครูแคงเล่าว่า ชีวิตเด็กมอแกนกับเด็กไทยต่างกันมาก กว่าเธอจะฝ่าฟันมันมาได้ไม่ใช่เรื่องง่าย จึงหันหลังให้ฝั่งกลับมาบนเกาะ สร้างโอกาสให้เด็กชาวมอแกนได้มีวิถีชีวิตที่ดีขึ้น
อย่างน้อยก็ขจัด "ความกลัว" ปัญหาที่เธอย้ำอยู่บ่อยครั้งว่า ชาวมอแกนทุกคนกลัวคนชายฝั่ง กลัวคนไทย กลัวการดูถูกดูแคลน การถูกข่มเหงเหยียดหยามจากคนไทย เพราะทั้งหมดที่กล่าวมา
คือสิ่งที่ครูแคงต้องเผชิญระหว่างใช้ชีวิตบนบกเพื่อการศึกษา
ขณะที่ครูแคงให้สัมภาษณ์อยู่นั้นเป็นเวลาพักกลางวันของเด็กทุกคนต่างพากันวิ่งไปยังทะเล บางคนก็เปลือยบางคนก็กระโดดลงน้ำทั้งชุดเสื้อผ้า เด็ก ๆ ต่างพากันแหวกว่ายในน้ำอย่างสนุกสนาน ครึกครื้น เพราะทะเลเปรียบเหมือนสนามเด็กเล่นที่พ่อแม่ผู้ปกครองหายห่วง เพราะเด็กทุกคนว่ายน้ำเป็นกันหมด
ก่อนจะกลับมาที่บทสนทนาเรื่องเส้นทางการศึกษาของครูแคงที่ต้องเปลี่ยนโรงเรียนอยู่เรื่อย ๆ จากเกาะพระทองในชั้นประถม ย้ายขึ้นบกไปเรียนมัธยมต้นที่บ้านลำแก่น อ.ท้ายเหมือง ก่อนจะเข้าเรียนที่โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ 35 จังหวัดพังงา จนจบชั้นมัธยมปลาย แล้วเข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี จนจบปริญญาตรีสาขาการท่องเที่ยว โดยได้รับเงินทุนจากมูลนิธิอันดามันเหนือ มอบทุนการศึกษาเด็กที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ

"บนบกจะกว้างกว่าโรงเรียนที่เกาะมาก แคงเป็นชาวมอแกนคนเดียวในหมู่คนไทย ตอนเด็ก ๆ ก็รู้สึกแตกต่างเหมือนกัน เหมือนเขาแบ่งชนชั้น ต่ำต้อยกว่าเขาเรียนไม่ทันเขา ไม่เก่งเท่าเขา เพราะเราจะเงียบไม่ค่อยกล้าแสดงออก แต่เราทำได้เหมือนเขา ทุกอย่าง เราอาจจะคิดเองตลอดว่าเราต่ำกว่าเขา เพราะถูกปลูกฝังมาแต่เด็ก บางทีคนไทยชอบมารังแกชาวมอแกน มาดูถูกด่าว่าเราตัวดำ แต่ตอนนี้ขาวขึ้นแล้ว" ครูแคงกล่าวพร้อมกับหัวเราะเบา ๆ

ครูแคงเกิดและเติบโตที่เกาะแห่งนี้การใช้ชีวิตบนเกาะในเรือนไม้ไผ่หลังคามุงจากไม่มีไฟฟ้าหรือเทคโนโลยีใด ๆ ให้ติดต่อกับภายนอกได้เลย จึงไม่ใช่ปัญหาของครูมอแกนคนแรกแห่งเกาะสุรินทร์จะกลับมายังที่ซึ่งเคยพักอาศัยหลับนอนงมหอยดำน้ำจับปลาประทังชีวิตมาก่อน

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น