เมื่อวานนี้ (14 พฤษภาคม 2556) นายชินภัทร ภูมิรัตน เลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมผู้บริหารระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) ว่า ที่ประชุมได้ติดตามความคืบหน้าการแก้ไขปัญหาโรงเรียนขนาดเล็กที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 60 คน ซึ่งได้มีการมอบหมายให้สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาทั่วประเทศ (ยกเว้น กทม.) รวม 182 เขต ไปจัดทำแผนพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นให้อย่างชัดเจน และให้ส่งแผนดังกล่าวให้ สพฐ. พิจารณาภายในวันที่ 24 พฤษภาคมนี้
นายชินภัทร กล่าวว่า เมื่อเขตพื้นที่การศึกษาแต่ละแห่งส่งแผนมาให้แล้ว คาดว่า ภายในสิ้นเดือนนี้ จะรู้ข้อมูลที่แน่นอนว่า มีโรงเรียนขนาดเล็กแห่งใดบ้างที่ต้องยุบเลิกหรือยุบรวม อย่างไรก็ตาม สพฐ. ยืนยันว่า จะไม่มีการเดินหน้ายุบโรงเรียนขนาดเล็กทุกแห่งที่มีจำนวนนักเรียนน้อยกว่า 60 คนโดย สพฐ. ได้ให้หลักการกับเขตพื้นที่การศึกษาในการจัดทำแผนโรงเรียนขนาดเล็กไปว่า ก่อนจะเสนอยุบเลิกหรือยุบเลิกโรงเรียนแห่งใดนั้น จะต้องผ่าน 3 ขั้นตอนที่สำคัญก่อน ดังนี้
ขั้นที่ 1 ต้องมีการเร่งรัดพัฒนาคุณภาพโรงเรียนขนาดเล็กแห่งนั้น พร้อมกับการเร่งรัดพัฒนาประสิทธิภาพในการบริหารจัดการในรูปแบบต่าง ๆ เช่น จัดทำแผนที่ตั้งของโรงเรียน
ขึ้นที่ 2 ต้องมีการรวมกลุ่มโรงเรียนเพื่อให้เกิดการใช้ทรัพยากรต่าง ๆ ร่วมกัน โดยการนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการจัดการศึกษา
ขั้นที่ 3 หากผ่าน 2 ขั้นตอนแรกแล้ว พบว่า โรงเรียนแห่งนั้นยังมีจำนวนนักเรียนลดลงต่อเนื่อง ก็จะมีการหารือกับภาคประชาคม ชุมชน เพื่อขอความเห็นชอบ ก่อนเดินหน้ายุบโรงเรียนแห่งนั้นต่อไป
อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นคาดว่า ในปี 2556 นี้ อาจจะไม่มีการยุบเลิกโรงเรียนขนาดเล็กเลยก็ได้ เพราะการยุบเลิกโรงเรียนนั้น จะทำในเฉพาะในกรณีที่โรงเรียนแห่งนั้นไม่มีตัวป้อนแล้วจริง หรือไม่มีเด็กมาเข้าเรียนเลย แต่อาจมีการยุบรวมโรงเรียนเป็นบางแห่ง ซึ่งหมายถึงการนำนักเรียนจากโรงเรียนในบริเวณใกล้เคียงกันมาเรียนรวมกัน พร้อมตั้งงบประมาณเพื่อจัดซื้อรถตู้เพื่อรับส่งนักเรียน หลังจากนั้น ถ้าโรงเรียนแห่งใดไม่มีตัวป้อนแล้ว จึงจะยุบเลิกโรงเรียนแห่งนั้นไป
โดยในตอนท้าย นายชินภัทร ยังกล่าวอีกว่า การคงอยู่ต่อของโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่นั้น เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยความร่วมมือจาก 2 ฝ่าย คือ เขตพื้นที่การศึกษาและชุมชน หากชุมชนประสงค์จะให้เปิดโรงเรียนต่อไป ชุมชมก็ต้องเข้ามามีส่วนร่วมให้การสนับสนุนการจัดการศึกษาด้วย เพื่อให้โรงเรียนขนาดเล็กสามารถพัฒนาคุณภาพและบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น แต่สำหรับโรงเรียนที่มีการยุบเลิกไปแล้ว อาจยกให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหรือสำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) เข้ามาร่วมใช้อาคารสถานที่แทน
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น