วันพฤหัสบดีที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2556

วิเคราะห์ศึกผู้ว่าฯกทม. ′ไม่เจ๋งจริง แพ้พรรค

วิเคราะห์ศึกผู้ว่าฯกทม. ′ไม่เจ๋งจริง แพ้พรรค
หลังจากสภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบ พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 ให้ผู้ว่าฯกทม.มาจากการเลือกตั้ง และให้ดำรงตำแหน่งได้คราวละ 4 ปี สามารถแต่งตั้งรองผู้ว่าฯกทม.ได้ไม่เกิน 4 คน การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.จึงเกิดอีกครั้ง หลังจากที่เคยมีการเลือกตั้งมาแล้วในปี 2518 ซึ่งครั้งนั้น "นายธรรมนูญ เทียนเงิน" จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้ 99,247 คะแนน ชนะ "นายอาทิตย์ อุไรรัตน์" จากพรรคพลังใหม่ ที่ได้ 91,678 คะแนน จากผู้ใช้สิทธิเพียง 266,266 คน หรือร้อยละ 13.8
ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.ตาม พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร ครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2528 "พล.ต.จำลอง ศรีเมือง" ในนาม "กลุ่มรวมพลัง" ได้รับความไว้วางใจจากคนกรุงเทพฯประมาณ 400,000 คะแนน ชนะ "นายชนะ รุ่งแสง" จากพรรคประชาธิปัตย์ ที่ได้ประมาณ 240,000 คะแนน ขณะนั้นมีผู้ใช้สิทธิประมาณ 980,000 คน ร้อยละ 34.6
หลังหมดวาระในเดือนพฤศจิกายน 2532 พล.ต.จำลองได้ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม.อีกครั้งในนาม "พรรคพลังธรรม" และชนะการเลือกตั้ง ได้ 700,000 คะแนน นำคู่แข่งอย่าง "นายเดโช สวนานนท์" จากพรรคประชากรไทย ที่ได้เพียง 283,777 คะแนน จากผู้ใช้สิทธิ 1,147,318 คน คิดเป็นร้อยละ 35.8 แต่ พล.ต.จำลองก็ลาออกกลางคัน เพื่อไปสมัครลงชิงสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.)
เมื่อมีการจัดเลือกตั้งใหม่ในวันที่ 19 เมษายน 2535 "ร.อ.กฤษฎา อรุณวงษ์ ณ อยุธยา" ที่เคยเป็นรองผู้ว่าฯกทม.ในสมัย พล.ต.จำลองสามารถคว้าชัยในนามพรรคพลังธรรม ได้ 363,668 คะแนน ชนะ "นายพิจิตต รัตตกุล" จากพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งได้เพียง 300,000 คะแนน จากผู้ใช้สิทธิร้อยละ 23.02 กลายเป็นผู้ว่าฯกทม.คนที่ 11 ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2535-วันที่ 18 เมษายน 2539
ต่อมาการเลือกตั้งในปี 2539 พล.ต.จำลองกลับมาเล่นการเมืองท้องถิ่นอีกครั้ง คราวนี้ต้องแข่งขันกับ ร.อ.กฤษดาและนายพิจิตตที่ออกจากพรรคประชาธิปัตย์ ลงสมัครอิสระในนาม "กลุ่มมดงาน" ผลปรากฏว่า นายพิจิตตนำโด่งได้ 770,000 คะแนน ขณะที่ พล.ต.จำลองได้ประมาณ 520,000 คะแนน ร.อ.กฤษดาได้ 240,000 คะแนน มีผู้ใช้สิทธิร้อยละ 43.5 ส่งผลให้นายพิจิตตเป็นผู้ว่าฯกทม. คนที่ 12 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2539-วันที่ 1 มิถุนายน 2543
ถัดมาในการเลือกตั้งครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2543 "นายสมัคร สุนทรเวช" จาก "พรรคประชากรไทย" สามารถกวาดไปได้ 1,016,096 คะแนน ชนะ "คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์" จาก "พรรคไทยรักไทย" ที่ได้เพียง 521,184 คะแนน เป็นผู้ว่าฯกทม. คนที่ 13 เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2543-วันที่ 22 กรกฎาคม 2547
หลังจากนายสมัครหมดวาระ เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2547 "นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน" จากพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าฯกทม.ด้วยคะแนนเสียง 911,441 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 38.20 เอาชนะคู่แข่งสำคัญอย่าง "นางปวีณา หงสกุล" ผู้สมัครอิสระ ที่ได้ 619,039 คะแนน คิดเป็นร้อยละ 25.95 เป็นผู้ว่าฯกทม. คนที่ 14 ดำรงตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2547-วันที่ 28 สิงหาคม 2551 ถัดจากนั้น วันที่ 9 ตุลาคม 2551 นายอภิรักษ์ชนะการเลือกตั้งอีกสมัย ได้ 991,018 คะแนน หรือร้อยละ 45.93 ชนะ "นายประภัสร์ จงสงวน" จาก "พรรคพลังประชาชน" ที่ได้ 543,488 คะแนน หรือร้อยละ 25.19 แต่อยู่ในวาระถึงวันที่ 19 พฤศจิกายน 2551 ก็ต้องแสดงสปิริตด้วยการลาออกจากตำแหน่ง หลังจากถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ชี้มูลความผิดในคดีทุจริตจัดซื้อรถและเรือดับเพลิง
ในการเลือกตั้งครั้งที่ 9 เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2552 ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร จากพรรคประชาธิปัตย์ ก็ชนะการเลือกตั้งไป 934,602 คะแนน หรือร้อยละ 45.41 นำ "นายยุรนันท์ ภมรมนตรี" จาก "พรรคเพื่อไทย" ที่ได้เสียงจากคนกรุงเทพฯ เพียง 611,669 คะแนน หรือร้อยละ 29.72 เป็นผู้ว่าฯกทม.คนที่ 15 เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2552-วันที่ 9 มกราคม 2556
นับตั้งแต่มีการเลือกตั้งครั้งแรก จนถึงการเลือกตั้งครั้งที่ 9 น่าสังเกตว่าผู้สมัครที่ชนะการเลือกตั้งส่วนใหญ่มักสังกัดพรรคการเมือง เนื่องจากมีฐานเสียงอยู่ในระดับหนึ่งแทบทั้งสิ้น แต่หากใครที่ไม่ได้สังกัดพรรคการเมือง แต่สามารถชนะการเลือกตั้งได้ แสดงว่าบุคคลนั้นจะต้องมีความโดดเด่นในตัวเองอย่างมาก
มาถึงการเลือกตั้งครั้งที่ 10 มาติดตามดูกันว่าผู้ว่าฯกทม.จะสังกัดพรรคการเมือง หรือเป็นเพียงผู้สมัครอิสระ!

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น