ถังแตก!พณ.ชงลดราคาจำนำข้าว (ไทยโพสต์)
พาณิชย์เตรียมชง กขช. 1 มี.ค. นี้ พิจารณาลดราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้าในโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 56 จากตันละ 1.5 หมื่นบาท เหลือไม่ต่ำกว่า 1.3 หมื่นบาท ระบุ ทำโครงการมา 2 ปี เกษตรกรน่าจะปลดหนี้ได้บ้างแล้ว
เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2556 นางวัชรี วิมุกตายน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) ที่มีนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมว.พาณิชย์ เป็นประธาน วันที่ 1 มีนาคมนี้ กระทรวงพาณิชย์จะเสนอให้ที่ประชุมพิจารณาหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และราคาการรับจำนำข้าวเปลือกปี 55/56 รอบ 2 หรือโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังปี 56 ที่จะเริ่มในเดือนเมษายน-พฤษภาคมนี้ เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องของโครงการ หลังจากที่โครงการรอบแรกจะสิ้นสุดในเดือนมีนาคมนี้ โดยจะปรับลดราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้าให้ที่ประชุมพิจารณา ขณะที่ราคาข้าวเปลือกชนิดอื่น ๆ จะยังคงราคาเดิมตามโครงการรับจำนำข้าวเปลือกนาปีปี 55/56
ปลัดกระทรวงพาณิชย์ บอกว่า ราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้าจะเสนอ 3 ระดับราคาคือ ตันละ 15,000 บาทเท่าเดิม หรือรับจำนำที่ตันละ 14,000 บาท หรือตันละ 13,000 บาท เพราะเห็นว่า โครงการรับจำนำของรัฐบาลนี้ ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่รัฐบาลตั้งราคารับจำนำข้าวเปลือกเจ้าที่ตันละ 15,000 บาท และข้าวเปลือกหอมมะลิที่ตันละ 20,000 บาทนั้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และสามารถลดภาระหนี้สินไปได้มากแล้ว น่าจะเพียงพอสำหรับการช่วยเหลือเกษตรกรแล้ว ขณะนี้จึงน่าจะหันมาสร้างความสมดุลให้กับด้านการตลาดและการส่งออกบ้าง
"เกษตรกรส่วนใหญ่บอกว่าหนี้สินที่มีอยู่น่าจะปลดเปลื้องได้ภายใน 2 ปี ซึ่งรัฐบาลนี้ก็ทำโครงการรับจำนำข้าวราคาสูงมา 2 ปีแล้ว ก็น่าจะลดภาระไปหนี้สินไปได้มาก จึงน่าจะทำให้ด้านการตลาดและด้านการส่งออกคล่องตัวมากขึ้นบ้าง ถ้าลดราคารับจำนำลงมาอีก ผู้ส่งออกน่าจะขายได้มากขึ้น มีรายได้เข้าประเทศมากขึ้น อุตสาหกรรมข้าวก็จะขยายตัวได้มากขึ้น และเกษตรกรไม่น่าได้รับผลกระทบอะไร"
นางวัชรี ยืนยันว่า ที่เสนอให้พิจารณาปรับลดราคารับจำนำครั้งนี้ ไม่เกี่ยวข้องกับไม่มีงบประมาณเพียงพอในการรับจำนำ เพราะคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติงบประมาณในการรับจำนำข้าวเปลือกนาปรังไว้แล้วที่ประมาณ 150,000 บาท ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากเงินจากการขายข้าวในสต็อกของรัฐบาลแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ที่ล่าสุดกระทรวงพาณิชย์ได้ส่งคืนให้กระทรวงการคลังไปแล้วเกือบ 70,000 ล้านบาท ทั้งนี้ คงต้องรอให้ที่ประชุมพิจารณาก่อนว่าจะเลือกรับจำนำที่ราคาเท่าไร ซึ่งอาจเลือกราคาเดิมที่ตันละ 15,000 บาทก็เป็นได้
ด้านนายทิฆัมพร นาทวรทัต รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ในฐานะโฆษกข้าว กล่าวว่า ในวันนี้ (28 กุมภาพันธ์) จะหารือร่วมกับเจ้าหน้าที่จากสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อสรุปสภาพคล่องการดำเนินโครงการรับจำนำข้าวเปลือกทั้งรอบนาปีปี 55/56 และนาปรังปี 56 เบื้องต้นกรมยืนยันว่าได้ขายข้าวจีทูจีได้จำนวนมากแล้ว มีทั้งขายข้าวเก่าคือข้าวที่อยู่ในสต็อกรัฐบาลตั้งแต่ก่อนปี 50 และข้าวใหม่จากโครงการรับจำนำเมื่อปี 54 จนถึงปัจจุบัน แต่คงไม่สามารถเปิดเผยปริมาณราคาและประเทศผู้ซื้อได้ ซึ่งกรมได้ทยอยส่งเงินค่าขายข้าวให้กระทรวงการคลังอย่างต่อเนื่อง เพราะการระบายข้าวแต่ละครั้งจะไม่ได้รับเงินทั้งหมดทันที ต้องส่งมอบข้าวให้ผู้ซื้อก่อน โดยการส่งมอบแต่ละครั้งจะมีปริมาณไม่กี่แสนตัน
"ผมเคลียร์กับ สบน.และ ธ.ก.ส.แล้ว แต่จะคุยเพื่อลงรายละเอียดตัวเลขสภาพคล่องโครงการรับจำนำอีกครั้ง เป็นการคุยกันระดับเจ้าหน้าที่ ก่อนนำเสนอตัวเลขให้ กขช.รับทราบ เพราะรัฐบาลต้องการรู้รายละเอียดทั้งหมดว่าจะขายข้าวได้เท่าไหร่ และต้องใช้เงินเท่าไหร่ มีภาระหนี้สินเท่าไหร่ ตั้งแต่ต้นปีส่งเงินค่าข้าวไปแล้ว 52,000 ล้านบาท เป็นการขายข้าวแบบจีทูจีเท่านั้น แต่รายได้จากการระบายในส่วนอื่นเมื่อรวมแล้วจะมีเงินส่งคืนรวม 60,000-70,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการขายข้าวเก่าประมาณ 1,000 ล้านบาท เงินส่วนนี้ไม่สามารถนำมาใช้ในโครงการรับจำนำได้ จะใช้ได้เฉพาะเงินที่ขายข้าวใหม่เท่านั้น" นายทิฆัมพร กล่าว
นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส.ส.พิษณุโลก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ขณะนี้ ธ.ก.ส. กำลังเข้าสู่ภาวะถังแตก จึงเชื่อว่า ครม. ต้องอนุมัติให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้ 7 หมื่นล้านบาทให้ ธ.ก.ส. อย่างแน่นอน เพราะการดำเนินโครงการพืชผลทางการเกษตรของรัฐบาล ทั้งข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ตั้งแต่ปี 55-56 ใช้เงินไปแล้ว 564,175 ล้านบาท แต่ใช้เงินกู้ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน 304,750 ล้านบาท นอกนั้นใช้เงินจาก ธ.ก.ส. ทั้งสิ้น ก้อนแรก 9 หมื่นล้านบาท ที่ตั้งไว้สำหรับการแทรกแซงราคาพืชผล แต่ใช้ไปแล้วกว่า 2 แสนล้านบาท เกินกว่าที่ ธ.ก.ส. คาดการณ์ไว้ถึง 110,823 ล้าน และกลับขายสินค้าเกษตรได้เงินแค่ 58,602 ล้านบาท หรือประมาณ 10% ของเงินในโครงการ จึงทำให้รัฐบาลถังแตก ไม่มีเงินแม้แต่บาทเดียวในการทำโครงการรับจำนำข้าวนาปรังที่จะเริ่มในวันที่ 1 เมษายนนี้
"จากที่ผมได้ลงพื้นที่พบว่าในช่วงเดือนมีนาคมนี้ เป็นเดือนที่เกษตรกรจะต้องใช้หนี้ตามเงื่อนไขให้กับ ธ.ก.ส. แต่เกษตรกรกลับยังไม่ได้เงินจากโครงการจำนำข้าวเลย จึงทำให้เกษตรกรไม่มีเงินใช้หนี้ ธ.ก.ส. และต้องหันไปกู้หนี้ระยะสั้นมาใช้หนี้ จึงมีความเดือดร้อนอย่างมาก" นพ.วรงค์ กล่าว
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น