วันพุธที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2556

เปิดเส้นทางรถไฟความเร็วสูง เชื่อมหัวเมืองใหญ่ 4 ภูมิภาค



กำลังเป็นกระแสร้อนที่คนทั่วบ้านทั่วเมืองพูดถึงกันมากที่สุด กับประเด็นเงินกู้ 2.2 ล้านล้านบาท ที่รัฐบาลเตรียมจะนำมาก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเฉพาะระบบการคมนาคมขนส่ง อย่าง "รถไฟความเร็วสูง" ที่ถูกบรรจุให้เป็นหนึ่งในโครงการใหญ่ โดยรัฐบาลประกาศว่าจะก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงให้ไปเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อให้การเดินทาง การขนส่ง เป็นไปอย่างสะดวกมากขึ้น และนี่จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่จะผลักดันให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางของอาเซียน

           สำหรับเมกะโปรเจคท์รถไฟความเร็วสูงนั้น ทางกระทรวงคมนาคมพิจารณาไว้หลายเส้นทาง ก่อนจะเคาะออกมา 4 สายในเฟสแรก เชื่อมจากกรุงเทพฯ ไปยังหัวเมืองใหญ่ 4 ภูมิภาค ครอบคลุมภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ของประเทศไทย ใช้งบประมาณกว่า 7 แสนล้านบาท ดังนี้ 

 1. สายเหนือ : กรุงเทพฯ-พิษณุโลก-เชียงใหม่ 

           เริ่มจากสถานีกลางบางซื่อ ไปจนถึงสถานีรถไฟเชียงใหม่ ระยะทางเกือบ 700 กิโลเมตร งบประมาณการก่อสร้างเบื้องต้น 387,821 ล้านบาท เริ่มก่อสร้างปี 2557 แบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ 

               ระยะที่ 1 กรุงเทพฯ-พิษณุโลก คาดว่าจะแล้วเสร็จในปลายปี 2561 

               ระยะที่ 2 พิษณุโลก-เชียงใหม่ คาดว่าจะแล้วเสร็จในต้นปี 2563

           อย่างไรก็ตาม เส้นทางที่จะก่อสร้างนั้นยังอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยขณะนี้มี 5 ทางเลือก (ข้อมูลจาก ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 29 มีนาคม 2556) คือ
           แนวที่ 1 ใช้แนวเขตทางรถไฟเดิมเป็นหลัก ความยาว 676 กิโลเมตร มี 12 สถานี ได้แก่ บางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา ลพบุรี นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เด่นชัย ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ ต้องเวนคืน 3,043 ไร่ 910 แปลง ค่าเวนคืน 3,651 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 429,886 ล้านบาท รวม 433,537 ล้านบาท

           แนวที่ 2 ใช้แนวเขตทางรถไฟเดิมเช่นกัน แต่ปรับเส้นทางให้สั้นลง เหลือ 631 กิโลเมตร จาก 12 สถานี เหลือ 11 สถานี คือ บางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา ลพบุรี นครสวรรค์ พิษณุโลก ศรีสัชนาลัย เด่นชัย ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ ต้องเวนคืน 10,249 ไร่ 3,070 แปลง ค่าเวนคืน 12,298 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 414,776 ล้านบาท รวม 427,075 ล้านบาท

           แนวที่ 3 เป็นแนวตัดใหม่ ตัดตรงจากพระนครศรีอยุธยาเข้านครสวรรค์ ไม่เข้าจังหวัดลพบุรี แล้ววิ่งตรงจากนครสรรค์ไปสุโขทัย เข้าลำปาง ลำพูน เชียงใหม่ ระยะทาง 607 กิโลเมตร มี 10 สถานี คือ บางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา ลพบุรี นครสวรรค์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ ต้องเวนคืน 13,856 ไร่ 4,160 แปลง ค่าเวนคืน 16,627 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 395,024 ล้านบาท รวม 411,652 ล้านบาท

           แนวที่ 4 เป็นแนวตัดใหม่ จากด้านตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยา วิ่งเข้าด้านตะวันออกของทางเลี่ยงเมืองนครสวรรค์ แล้วเข้าเมืองสุโขทัย ไปสิ้นสุดที่เชียงใหม่ ระยะทาง 594 กิโลเมตร มี 10 สถานี คือ บางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา สิงห์บุรี ชัยนาท อุทัยธานี นครสวรรค์ สุโขทัย ศรีสัชนาลัย และเชียงใหม่ ต้องเวนคืน 13,856 ไร่ 4,160 แปลง ค่าเวนคืน 16,627 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 392,592 ล้านบาท รวม 409,220 ล้านบาท

           แนวที่ 5 นำแนวเส้นทางที่ 1+2 ระยะทาง 661 กิโลเมตร มี 12 สถานีคือ บางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา ลพบุรี นครสวรรค์ พิจิตร พิษณุโลก สุโขทัย ศรีสัชนาลัย ลำปาง ลำพูน และเชียงใหม่ ต้องเวนคืน 5,835 ไร่ 1,750 แปลง ค่าเวนคืน 7,002 ล้านบาท ค่าก่อสร้าง 404,426 ล้านบาท รวม 411,427 ล้านบาท 

           ทั้งนี้ คาดกันว่า แนวทางที่ 5 เป็นทางเลือกที่เป็นไปได้มากที่สุด และคาดว่ารัฐบาลจะเคาะเส้นทางที่ชัดเจนในเดือนพฤษภาคม 2556

 2. สายตะวันออกเฉียงเหนือ : กรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย

           เริ่มจากสถานีกลางบางซื่อ ไปจนถึงสถานีรถไฟหนองคาย ใช้งบประมาณกว่า 170,450 ล้านบาท แต่เงินจำนวนนี้จะใช้ในการสร้างเฟสแรกจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 256 กิโลเมตร ก่อน โดยเริ่มต้นที่สถานีบางซื่อ เข้าสู่ชุมทางภาชี จังหวัดพระนครศรีอยุธยา แล้วผ่าน อ.หนองแซง จ.สระบุรี แก่งคอย มวกเหล็ก อ.วิหารแดง จากนั้นจะเข้าสู่ จ.นครราชสีมา ผ่าน อ.สีคิ้ว ช่วงลำตะคอง 

           ส่วนแผนการก่อสร้างเฟสที่ 2 จากสถานีนครราชสีมา-หนองคาย ระยะทาง 356 กิโลเมตร จะผ่าน อ.เมืองนครราชสีมา โนนสูง คง บัวใหญ่ บัวลาย แล้วเข้า จ.ขอนแก่น ผ่าน อ.พล โนนศิลา น้ำพอง บ้านไผ่ เขาสวนกลาง บ้านแฮด จากนั้นจะเข้าสู่ อ.โนนสะอาด จ.อุดรธานี ผ่านกุมภวาปี ประจักษ์ศิลปาคม อ.เมือง และ อ.เพ็ญ แล้วจะเข้าสู่ จ.หนองคาย ที่ อ.สระใคร ไปสิ้นสุดที่ อ.เมืองหนองคาย 

          ทั้งนี้ แผนก่อสร้างเฟสที่ 2 จากนครราชสีมา-หนองคาย นั้น ยังไม่มีการระบุจำนวนงบประมาณ เนื่องจากต้องใช้เงินส่วนอื่นที่นอกเหนือจากแผนกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท


 3. สายตะวันออก : ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ-พัทยา-ระยอง

           เป็นโครงการที่สร้างต่อจากแอร์พอร์ต เรลลิงก์ที่สนามบินสุวรรณภูมิ ไปจนถึงจังหวัดระยอง ระยะทางประมาณ 221 กิโลเมตร  โดยจะก่อสร้างในช่วงกรุงเทพฯ-พัทยา ก่อน ระยะทาง 187 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุนรวม 100,631 ล้านบาท มีต้นทางจากท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ไปยังจังหวัดฉะเชิงเทรา เข้าจังหวัดชลบุรี และไปสิ้นสุดที่เมืองพัทยา เริ่มก่อสร้างในปีงบประมาณ 2557 คาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2561 

          ส่วนเฟสต่อไปจะสร้างต่อไปยังจังหวัดระยอง และมีแผนจะขยายไปถึงจังหวัดตราดด้วยนั้น ยังไม่มีการระบุงบประมาณ เพราะต้องใช้เงินส่วนอื่น นอกเหนือจากแผนกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท


 4. สายใต้ : กรุงเทพฯ-หัวหิน-ปาดังเบซาร์

           เริ่มจากสถานีกลางบางซื่อ ไปจนถึงสถานีรถไฟปาดังเบซาร์ ระยะทาง 982 กิโลเมตร โดยระยะแรกจะสร้างถึงหัวหินก่อน ระยะทาง 225 กิโลเมตร ซึ่งจะผ่านจังหวัดนครปฐม, ราชบุรี, เพชรบุรี และสิ้นสุดที่หัวหิน ใช้งบประมาณ 124,327.9 ล้านบาท โดยขณะนี้กำลังพิจารณาเส้นทางที่จะใช้ เริ่มก่อสร้างได้ในช่วงปีงบประมาณ 2557 และคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2562

           ส่วนเฟสที่ต่อจากหัวหินไปยังปาดังเบซาร์นั้น ยังไม่มีความคืบหน้า และยังไม่มีการระบุงบประมาณ โดยจะต้องใช้เงินส่วนอื่นที่นอกเหนือจากแผนกู้เงิน 2.2 ล้านล้านบาท


 ค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูง

          สำหรับค่าโดยสารของรถไฟความเร็วสูงนั้น สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) ระบุว่า ผลการศึกษาค่าโดยสารรถไฟความเร็วสูงเบื้องต้นพบว่า ค่าโดยสารจะอยู่ที่ 2.50 บาทต่อกิโลเมตร ดังนั้น เส้นทาง กรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ค่าโดยสารจะตกเที่ยวละประมาณ 1,737.50 บาท

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น