วันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2556

อึ้ง! ชายไทยทำร้ายภรรยา ติดอันดับ 7 ของโลก ฤทธิ์เหล้าเป็นเหตุ


 ครอบครัวไทยวิกฤติ สามี-ภรรยา ฆ่าและทำร้ายร่างกายกันมากขึ้นจนติดอันดับโลก เผยสาเหตุจากทัศนคติและค่านิยมของหญิงไทยที่ถูกปลูกฝังให้อดทนเพื่อครอบครัว โดยเหตุเกิดในกรุงเทพฯ มากที่สุด

            เมื่อวานนี้ (10 เมษายน) นายวิเชียร ชวลิต ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เป็นประธานเปิดงานสัมมนา"รายงานสถานการณ์ความรุนแรงในครอบครัว" จัดโดย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล สำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่โรงแรมปริ๊นซ์พาเลซ มหานาค

            โดย นายสมชาย เจริญอำนวยสุข ผู้อำนวยการสำนักงานกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว เปิดเผยว่า จากการสำรวจในหัวข้อการทำร้ายคู่สมรส พบว่าประเทศไทยมีการทำร้ายกันของคู่สมรสอยู่ประมาณอันดับที่ 30 ของโลก โดยผู้ชายเป็นฝ่ายทำร้ายผู้หญิงสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก ที่สำคัญพบว่า ผู้หญิงยอมรับการถูกทำร้ายสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก จากทั้งหมด 49 ประเทศ ทั้งนี้ ความรุนแรงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง สืบเนื่องจากปัญหาเชิงทัศนคติ โดยเฉพาะผู้หญิงที่ได้รับการปลูกฝังให้เป็นฝ่ายอดทนเพื่อครอบครัว

            ดังนั้น ต้องมีการปรับค่านิยมใหม่ ซึ่งขณะนี้กระทรวงศึกษาธิการมีหลักสูตรเจนเดอร์ในโรงเรียนตั้งแต่ระดับอนุบาล เพื่อปลูกฝังการเคารพสิทธิความเท่าเทียมระหว่างเพศให้อยู่ในใจตั้งแต่เด็ก ขณะเดียวกัน พม. พยายามจัดระบบหน่วยบริการช่วยเหลือ OSCC ศูนย์ช่วยเหลือทางสังคม ซึ่งจะเป็นช่องทางให้ผู้ถูกกระทำมีทางเลือกเพิ่มขึ้น

            ด้าน นายวิเชียร กล่าวว่า ความรุนแรงในครอบครัวมีมากขึ้นและมีจำนวนเพิ่มขึ้น หลายคนอาจมองว่าสังคมสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสารได้รวดเร็วจึงดูว่ามีความรุนแรงเพิ่มขึ้น แต่แท้จริงแล้วอาจเป็นสองอย่างประกอบกัน คือ ในอดีตคนที่ถูกกระทำรุนแรงในครอบครัวไม่กล้าเปิดเผยตัว แต่ไม่ได้หมายความว่าเมื่อถูกกระทำรุนแรงในครอบครัวแล้วจะต้องปกปิด ดังนั้นเราจึงพยายามรณรงค์ให้ทุกครอบครัวอบอุ่น ไม่ก่อความรุนแรง สิ่งสำคัญอยากให้ผู้ที่ถูกกระทำก้าวข้ามความกลัวออกมาเผชิญความจริงเพื่อร่วมกันแก้ปัญหา

            เมื่อถามว่า สัดส่วนของผู้ถูกกระทำรุนแรงแล้วกลับเข้าสู่สังคมได้มีเท่าใด นายชวลิต กล่าวว่า หากผ่านกระบวนการแล้ว ทุกคนสามารถกลับสู่ครอบครัวได้ทั้งหมด ไม่มีใครต้องอยู่ในการดูแลตลอดชีวิต แค่ใช้เวลามากน้อยแตกต่างกัน ขณะเดียวกันพบว่า มีผู้ถูกกระทำซ้ำมาขอความช่วยเหลือ ซึ่งเราใช้กระบวนการทางสังคมเข้าไปแก้ปัญหา ดูว่าแต่ละรายมีปัญหาตรงไหน พยายามลดการกระทำซ้ำ แต่สิ่งที่เป็นปัญหามากตอนนี้ คือ ผู้ที่ถูกกระทำความรุนแรงไม่ออกมาแสดงตน เราจึงรณรงค์ว่าการกระทำความรุนแรงในครอบครัวเป็นเรื่องสำคัญ

            ด้าน น.ส.จรีย์ ศรีสวัสดิ์ ฝ่ายส่งเสริมภาคีเครือข่าย มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล กล่าวว่า ข่าวความรุนแรงในครอบครัว มีปัจจัยกระตุ้นจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ร้อยละ 29.13 สำหรับประเภทข่าวความรุนแรงในครอบครัวแบ่งออกเป็น 6 ประเภท ได้แก่

            1. ร้อยละ 59.16 ฆ่ากัน
            2. ร้อยละ 24.02 ฆ่าตัวตาย
            3. ร้อยละ 8.71 ทำร้ายกัน
            4. ร้อยละ 3.10 ความรุนแรงอื่น ๆ
            5. ร้อยละ 2.7 ตั้งครรภ์ไม่พร้อม
            6. ร้อยละ 2.4 ล่วงละเมิดทางเพศ

            ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบการใช้ความรุนแรงในครอบครัว เมื่อปี 2554 เราจะพบข่าวการฆ่ากัน ร้อยละ 49.70 ขณะที่ปี 2555 พุ่งสูงถึงร้อยละ 59.16 และหากจำแนกประเภทตามความสัมพันธ์ของผู้กระทำและผู้ถูกกระทำ ได้แก่ ร้อยละ 64.97 คือ ระหว่างสามีภรรยา และร้อยละ 15.74 คือ ระหว่างคู่รักแบบแฟน

            สำหรับจังหวัดที่มีการก่อเหตุฆ่ากันของสามีภรรยา พบว่า เกิดเหตุในกรุงเทพฯ มากที่สุด รองลงมาคือ สมุทรปราการ นครปฐม ปทุมธานี และชลบุรี โดยการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นปัจจัยหลักในการกระตุ้นให้มีการก่อเหตุมากที่สุด

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น