เอแบคโพล เผย ปชช. กว่าร้อยละ 60 ยังยอมรับได้หากรัฐบาลทุจริต แต่ตนเองได้ผลประโยชน์ ชี้คนที่ต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างปลอดภัย
วันนี้ (3 เมษายน 2556) ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพล มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่องเปรียบเทียบแนวโน้มทัศนคติอันตรายในหมู่ประชาชนว่าด้วยการยอมรับรัฐบาลทุจริตคอร์รัปชั่น ถ้าตนเองได้ผลประโยชน์ด้วย กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนในพื้นที่ 17 จังหวัดของประเทศ
โดยผลการสำรวจพบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือเกินกว่าร้อยละ 60 ยังคงยอมรับได้ ถ้ารัฐบาลทุจริตคอร์รัปชั่นแต่ขอให้ตนเองได้ประโยชน์ด้วย ตลอดการสำรวจตั้งแต่เดือนมกราคม 2554 จนถึงปัจจุบัน โดยเมื่อจำแนกออกตามเพศ พบว่า เป็นผู้ชายร้อยละ 66.9 และผู้หญิงร้อยละ 64.4
เมื่อจำแนกตามช่วงอายุ พบว่ากลุ่มที่ยอมรับได้ ถ้ารัฐบาลทุจริตคอร์รัปชั่น แต่ขอให้ตนเองได้ประโยชน์ด้วย มีดังนี้
ร้อยละ 56.1 กลุ่มอายุต่ำกว่า 20 ปี
ร้อยละ 62.3 กลุ่มคนอายุระหว่าง 20-29 ปี
ร้อยละ 67.9 กลุ่มคนอายุระหว่าง 30-39 ปี
ร้อยละ 66.9 กลุ่มคนอายุระหว่าง 40-49 ปี
ร้อยละ 67.5 กลุ่มคนอายุ 50 ปีขึ้นไป
ที่น่าพิจารณาคือ เมื่อจำแนกตามการศึกษา พบว่า ยิ่งกลุ่มคนที่มีการศึกษาสูงขึ้น ยิ่งมีแนวโน้มของคนที่ยอมรับรัฐบาลทุจริตคอร์รัปชั่นลดน้อยลง แต่ก็ยังเป็นจำนวนส่วนใหญ่ของทุกกลุ่ม ดังนี้
ร้อยละ 66.3 กลุ่มคนที่มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีส่วนใหญ่
ร้อยละ 61.3 กลุ่มคนที่มีการศึกษาปริญญาตรีส่วนใหญ่
ร้อยละ 57.6 กลุ่มคนที่มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีส่วนใหญ่
และเมื่อจำแนกตามกลุ่ม มีดังนี้
ร้อยละ 58.0 กลุ่มข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐส่วนใหญ่
ร้อยละ 65.3 กลุ่มพนักงานเอกชนส่วนใหญ่
ร้อยละ 65.3 กลุ่มพ่อค้านักธุรกิจส่วนตัวส่วนใหญ่
ร้อยละ 68.8 กลุ่มนักศึกษาส่วนใหญ่
ร้อยละ 67.2 กลุ่มรับจ้างใช้แรงงาน เกษตรกรส่วนใหญ่
ร้อยละ 69.2 กลุ่มแม่บ้านเกษียณอายุส่วนใหญ่
นอกจากนี้ ดร.นพดล ยังเปิดเผยด้วยว่า จากการวิจัยเชิงคุณภาพด้วยการสัมภาษณ์เจาะลึกพบว่า กลุ่มคนที่ยอมรับรัฐบาลทุจริตคอร์รัปชั่นส่วนใหญ่ต่างระบุในทิศทางเดียวกันว่า คนที่ต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นไม่ได้รับการคุ้มครองอย่างปลอดภัย กลับถูกข่มขู่คุกคามทำร้ายถึงชีวิต ถูกรังแกกลั่นแกล้งสารพัด ไม่มีใครหรือหน่วยงานใดเข้ามาช่วยเหลืออย่างจริงจังต่อเนื่อง คนดีกลับไม่มีที่ยืนจนต้องทำตัวเป็นน้ำปล่อยให้ไหลตามกันไปเพื่อความอยู่รอด
และเมื่อถามถึงการรับรู้เรื่องการรณรงค์ต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นกลับพบว่าไม่มีประโยชน์มากนัก มีแต่การสร้างภาพให้จบ ๆ กันไป ยิ่งไปกว่านั้น การจัดอีเว้นท์ต่อต้านการทุจริตก็มีผลประโยชน์เชิงธุรกิจ
โดยสรุปของผลวิจัยเชิงคุณภาพคือ ส่วนใหญ่รู้สึกหดหู่ อยากเห็นอัศวินขี่ม้าขาว อยากเห็น "คนดีและเก่ง" มาปกครองบ้านเมืองแต่ยังหาไม่เจอตัวจริงเลยในสังคมไทย ทุกองค์กรแม้แต่ในกลุ่มที่น่าจะเป็นคนดีน่าเลื่อมใสศรัทธาแต่ก็มีปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ยักยอก ฉ้อโกง เงินบริจาคของประชาชนไปให้กับตนเองและพวกพ้องคนใกล้ชิด
เมื่อถามถึงหน่วยงาน ป.ป.ช. และ ป.ป.ท. พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่มองว่าเป็นหน่วยงานสำคัญและจำเป็นมากแต่ต้องการให้เร่งดำเนินการให้เป็นตัวอย่างที่ดีและทำให้ขบวนการทุจริตคอร์รัปชั่นหมดไปจากสังคมไทยให้ได้ด้วยบทลงโทษที่รุนแรงสูงสุด แต่ที่น่าเป็นห่วงคือ ป.ป.ท. เพราะครั้งหนึ่งเคยเป็นหน่วยงานที่สร้างความหวังในหมู่ประชาชนเรื่องการเปิดโปงขบวนการทุจริตงบภัยพิบัติ แต่คนเปิดโปงก็ถูกโยกย้ายพ้นอำนาจโดยตรงในการตรวจสอบหลังจากนั้นบทบาทของ ป.ป.ท. ก็ไม่อยู่ในการรับรู้ของประชาชนมากพอที่จะสร้างความวางใจและพลังต่อต้านของสาธารณชนต่อรัฐบาลทุจริตคอร์รัปชั่นได้
ดังนั้นทางออกที่น่าพิจารณาคือ
1. ต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่นต้องเริ่มจากความซื่อสัตย์ของคนในครอบครัว พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดีซื่อสัตย์ต่อกันและกันให้ลูกได้เห็น
2. คุ้มครองพยานและกลุ่มประชาชนที่ลุกขึ้นมาต่อต้านขบวนการทุจริตคอร์รัปชั่นอย่างจริงจังต่อเนื่อง โดยติดตามดูแลความปลอดภัยของกลุ่มประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐที่ออกมาแสดงตนต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชั่นมิให้พวกเขาถูกรังแกจากกลุ่มผู้มีอิทธิพลของนักการเมือง นายทุนและกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ
3. รวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐบาลทุกรัฐบาลเปิดเผยการใช้จ่ายงบประมาณบนเว็บไซต์ของทำเนียบรัฐบาลและสื่อมวลชนให้เห็นการกระจายของทุกเม็ดเงินในลักษณะให้สาธารณชนช่วยกันตรวจสอบแกะรอยเส้นทางการใช้จ่ายงบประมาณของรัฐบาลได้
4. เสนอให้เพิ่มโทษรุนแรงสูงสุดต่อกลุ่มบุคคลสำคัญที่ทุจริตคอร์รัปชั่น และควรเร่งรัดไม่ปล่อยให้คดีหมดอายุความ ไม่ปล่อยให้ขบวนการทุจริตคอร์รัปชั่นลอยนวลอยู่อย่างสง่างามในสังคมไทย
5. จัดตั้งกองทุนสร้างเสริมความซื่อสัตย์และกตัญญูรู้คุณแผ่นดินสนับสนุนกิจกรรมเชิงสร้างสรรค์ตั้งแต่ครอบครัว ชุมชนและประเทศในการสนับสนุนเตรียมประชาชนส่วนใหญ่ทั้งประเทศให้มีคุณภาพทั้ง "ดีและเก่ง" ขึ้นมามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศทั้งปัจจุบันและอนาคตอย่างจริงจังต่อเนื่อง
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น