วันพุธที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2556

เปิดประวัติ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ผู้สมัครผู้ว่าฯ กทม.


พงศพัศ พงษ์เจริญ



          เป็นมหากาพย์อยู่นานพอสมควร สำหรับการสรรหาตัวผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ของพรรคเพื่อไทย ที่มี 2 กระแสว่าจะส่งใครลงเลือกตั้งระหว่าง คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ที่เคยลงรับสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. มาแล้วเมื่อ พ.ศ. 2543 แต่พ่ายให้กับ นายสมัคร สุนทรเวช หรืออีกหนึ่งตัวเลือกของพรรคเพื่อไทยคือ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ ที่มีข่าวลือหนาหูในสำนักงานตำรวจแห่งชาติว่า เตรียมลาออกจากข้าราชการตำรวจ หลังจากถูก พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ทาบทาม มาลงสมัครผู้ว่าฯ กทม.

          และเมื่อวันที่15 มกราคมที่ผ่านมา ทางพรรคเพื่อไทยก็ได้เปิดตัว พล.ต.อ.พงศพัศ เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในนามพรรคเพื่อไทยอย่างเป็นทางการ โดยที่ พล.ต.อ.พงศพัศ ก็ได้โพสต์เฟซบุ๊กในวันนั้นเลยว่า "เป็นวันที่สำคัญที่สุดในชีวิต"

พงศพัศ พงษ์เจริญ

พงศพัศ พงษ์เจริญ

          พร้อมกันนั้น ป้ายหาเสียงเลือกตั้งของ พล.ต.อ.พงศพัศ ก็เริ่มติดตามจุดต่าง ๆ ของกรุงเทพฯ ในวันถัดมา โดยชูนโยบาย "วางยุทธศาสตร์ สร้างอนาคตกรุงเทพฯ ร่วมกับรัฐบาล อย่างไร้รอยต่อ" แสดงให้เห็นถึงแนวคิดหลักของการหาเสียงครั้งนี้ว่า รัฐบาลกับผู้ว่าฯ กทม. ต้องมาจากพรรคเดียวกัน จึงจะประสานงานกันได้ดี กรุงเทพฯ เจริญก้าวหน้า ไม่มีการขัดแข้งขัดขา

พงศพัศ พงษ์เจริญ

          จากนั้นจึงได้ชูนโยบายอื่น ๆ เพิ่มเติม จากการสัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชน และการปราศรัย เมื่อวันที่ 21 มกราคมที่ผ่านมา ทำให้สามารถสรุปนโยบายหาเสียงของ พล.ต.อ.พงศพัศ ได้ดังนี้
        1. นโยบาย "รถเมล์ฟรี-เรือโดยสารฟรี" ซึ่งรถเมล์จะต้องฟรีทุกคัน และมาถึงป้ายต่าง ๆ ทุก ๆ 5 นาที ส่วนผู้ที่ใช้เรือข้ามฟากแม่น้ำเจ้าพระยา ก็จะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย โดยที่รัฐบาลและ กทม. จะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายส่วนนี้คนละครึ่ง นอกจากนี้ เตรียมสร้างรถรางสมัยใหม่ 2 สาย รอบเกาะรัตนโกสินทร์โดยไม่เสียค่าโดยสาร

        2. การจัดระเบียบการเดินรถใหม่ โดยการจัดรถเมล์ประมาณ 500-1,000 คัน ไปรับส่งประชาชนถึงหน้าหมู่บ้าน เพื่อไม่ให้คนกรุงเทพฯ ที่ขับรถมา ไม่ต้องหาที่จอด รวมถึงลดจำนวนรถเมล์ลง  พร้อมกันนั้น ก็จะเช่าพื้นที่สำหรับแท็กซี่ ให้จอดรอรับผู้โดยสาร เพื่อประหยัดน้ำมันและลดปัญหาการจราจรติดขัด

        3. โครงการ ฝากบ้านไว้กับผู้ว่าฯ กทม. 365 วัน

        4. โครงการบ้านอุ่นใจ ที่เป็นโครงการร่วมกับรัฐบาล มีจุดประสงค์ในการแก้ไขปัญหายาเสพติดในชุมชน

        5. การจัดเก็บขยะทั้งวัน และมีกระบวนการคัดแยกขยะเสร็จสิ้นตั้งแต่พื้นที่ชุมชน

        6. จัดระเบียบพ่อค้าแม่ค้าที่ขายของอยู่บนทางเท้าใหม่

        7. สร้างป้ายรถประจำทางให้เสมอกับทางขึ้นรถโดยสาร เป็นโครงการที่คืนความสุข เอื้อเฟื้อต่อคนพิการ

        8. ผลักดัน กรุงเทพฯ เป็นเมืองของผู้นำประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

        9. สร้างทางเดินริมแม้น้ำเจ้าพระยา พร้อมกับทางจักรยาน เพื่อเป็นทางวิ่งสำหรับการออกกำลังกาย

        10. นำสายไฟฟ้าลงใต้ดิน ลดปัญหาการเกิดอุบัติเหตุประเภทไฟดูด

        11. ติดตั้งกล้องซีซีทีวีของจริง ทุกจุดเสี่ยงในกรุงเทพฯ โดยไม่จำกัดจำนวน

        12. สร้างห้องน้ำสาธารณะที่ป้ายรถเมล์ พร้อมกับเพิ่มจุดสว่างที่ป้ายให้มากกว่าเดิม

        13. ยกระดับศูนย์สาธารณะชุมชน เป็นโรงพยาบาลชุมชน ดูแลรักษาพยาบาลให้ผู้ที่อายุเกิน 60 ปี ซึ่งจะมีแพทย์เคลื่อนที่ตามไปรักษาถึงที่บ้าน

พงศพัศ พงษ์เจริญ

พงศพัศ พงษ์เจริญ

          ทั้งหมดนี้เป็นนโยบายเบื้องต้นของ พล.ต.อ.พงศพัศ ที่ใช้ในการหาเสียง แต่สำหรับคนที่ยังไม่ทราบว่าผู้สมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ของพรรคเพื่อไทยคนนี้เป็นใครมาจากไหน ทางกระปุกดอทคอมก็จะนำเสนอประวัติ พล.ต.อ.พงศพัศ ต่อไป

          พล.ต.อ.พงศพัศ เกิดเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2498 ที่ จ. จันทบุรี มีชื่อเดิมว่า ไพรัช พงษ์เจริญ จบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหารรุ่นที่ 15 และโรงเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นที่ 31 โดยเมื่อจบการศึกษาแล้วก็ยังได้รับทุนจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ให้ไปเรียนต่อด้านอาชญาวิทยา ที่สหรัฐฯ จนจบการศึกษาระดับปริญญาเอก

          หลังจากเรียนจบ พล.ต.อ.พงศพัศ ก็เข้ารับราชการตำรวจ เป็นนายเวรติดตาม พล.ต.อ.แสวง ธีระสวัสดิ์ ต่อมาได้รับการแต่งตั้งให้เป็น ผู้บังคับการศูนย์คอมพิวเตอร์ตำรวจ, ผู้บังคับการกองสารนิเทศ ของกรมตำรวจ, รองผู้บัญชาการสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ตามลำดับ อีกทั้ง พล.ต.อ.พงศพัศ ยังเป็นโฆษกของกรมตำรวจและสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกด้วย ทำให้ประชาชนคุ้นหน้าคุ้นตาผ่านสื่อเป็นอย่างดี

พงศพัศ พงษ์เจริญ

          อย่างไรก็ตาม ในปี 2551 พล.ต.อ.พงศพัศ ถูกย้ายออกจากโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ แล้วแต่งตั้ง พล.ต.ท.วัชรพล ประสารราชกิจ ดำรงตำแหน่งแทน เนื่องจาก พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติในขณะนั้น เห็นว่า พล.ต.ท.วัชรพล มีความเป็นนักวิชาการมากกว่า

          อย่างไรก็ดี พล.ต.อ.พงศพัศ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็นโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติอีกครั้ง หลังจากที่ พล.ต.อ.ปทีป ตันประเสริฐ ได้รับการแต่งตั้งให้รักษาการผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พ.ศ. 2552 ซึ่งในครั้งนี้ พล.ต.อ.พงศพัศ กลับมารับตำแหน่งเกือบครบ 1 ปี จึงได้ประกาศลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากเห็นว่าดำรงตำแหน่งนี้มา 5 สมัยแล้ว และตอนนั้นได้รับตำแหน่งเป็นที่ปรึกษา (สบ.10) ด้านความมั่นคงและกิจการพิเศษ มีตำแหน่งเทียบเท่ารองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอีกด้วย

          กระทั่งในปี 2554 พล.ต.อ.พงศพัศ ได้รับการแต่งตั้งให้เป็น รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ควบตำแหน่งเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) เป็นตำแหน่งสุดท้าย ก่อนที่จะลาออกจากราชการ มาลงสมัครเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในนามพรรคเพื่อไทย

พงศพัศ พงษ์เจริญ

          สื่อโซเซียลมีเดียของ พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ (หมายเลข 9)
            pongsapatbkk.com 

            เฟซบุ๊ก พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ 

            @PongsapatBKK 

            Instagram pongsapatbkk 


          จากประวัติดังกล่าว อาจจะทำให้หลายคน ทราบถึงความเป็นมาของ พล.ต.อ.พงศพัศ คนนี้มากขึ้น และอาจเป็นข้อมูลอีกข้อมูลหนึ่งสำหรับชาวกรุงเทพฯ ในการตัดสินใจเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. ในวันที่ 3 มีนาคม 2556 นี้ ก็เป็นได้

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น